กรุงเทพฯ 25 พ.ย.-ปภ.บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.เพชรบุรีอย่างเต็มกำลัง เน้น 2 แผนงานหลักการบริหารจัดการน้ำ-แผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมประสานภาคใต้เตรียมรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง 25-28 พ.ย.นี้
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม – 25 พฤศจิกายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 79 อำเภอ 482 ตำบล 2,825 หมู่บ้าน 38 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 126,390 ครัวเรือน 327,420 คน ผู้เสียชีวิต 29 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 3 อำเภอ 46 ตำบล 365 หมู่บ้าน 30,788 ครัวเรือน 67,735 คน โดยระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง อีกทั้งเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย
นายชยพล กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นเส้นทางการระบายน้ำและอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ พื้นที่การเกษตร เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี และบริเวณถนนเพชรเกษมขาล่องใต้ และขาเข้ากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง และระดับน้ำท่วมอยู่สูงกว่าระดับตลิ่ง รวมถึงมีน้ำหลากเต็มทุ่งของพื้นที่รับน้ำ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกจากพื้นที่
นายชยพล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แบ่งเป็น 2 แผนงาน ดังนี้ 1.แผนการบริหารจัดการน้ำ ปภ.ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยรวมกว่า 180 รายการ จากศูนย์ ปภ.เขต 2 สุพรรณบุรี และเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยทหาร ฝ่ายปกครอง หน่วยชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมระดมเครื่องจักรกลเปิดทางน้ำ รวมถึงติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำ ประสานกองทัพเรือสนับสนุนเรือผลักดันน้ำติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและเร่งระบายน้ำผ่านอำเภอบ้านแหลมออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด ตลอดจนวางแนวกระสอบทราย เสริมคันดินบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรีปิดกั้นมิให้น้ำไหลเข้ามาสมทบเพิ่มเติมในพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ ย่านการค้า และเส้นทางคมนาคม ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับสู่ภาวะปกติใน 2-3 วันนี้
นายชยพล กล่าวด้วยว่า 2.แผนการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน เน้นดูแลชีวิตความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเป็นหลัก ในเบื้องต้นได้แจกจ่ายถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่มแก่ประชาชนให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้บริการขนย้ายสิ่งของ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อวางแผนฟื้นฟูและเข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ประสบภัย
“ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาล โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนได้เร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ” นายชยพล กล่าว
นายชยพล กล่าวอีกว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ทำในช่วงวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
“ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป” นายชยพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย