สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) 22 พ.ย.-วันพรุ่งนี้ สภ.องครักษ์ จะส่งอวัยวะ ‘เมย’ นักเรียนเตรียมทหารมาให้สถาบันนิติวิทยาศาสต์ชันสูตรซ้ำ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน คาด 30 พ.ย.สรุปผลการผ่าพิสูจน์รอบ 2 ได้ ผอ.สถาบันฯ เผยการนำอวัยวะออกไปพิสูจน์ ทำได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่อนาคตอาจต้องมีการทบทวนปรับแก้กฎหมาย เชื่อความผิดพลาดจนเกิดร้องเรียนมาจากการสื่อสาร
นายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ โฆษกและรอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ พญ.ปานใจ โวหารดี รองโฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว กรณีนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตกระทันหันและได้ถูกผ่าชันสูตรศพที่กองพยาธิ รพ.พระมงกุฎเกล้า และญาติร้องขอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ชันสูตรซ้ำอีกรอบ เนื่องจากยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิตเพราะวานนี้(21 พ.ย.)พล.ต.กนกพงศ์ จันทร์นวล ผบ.โรงเรียนเตรียมทหาร ระบุว่าการเสียชีวิตของน้องเมย เป็นการเสียชีวิตที่ผิดตามธรรมชาติ ส่วนเหตุที่อวัยวะภายในของผู้เสียชีวิตหายนั้น ถือเป็นขั้นตอนทางการแพทย์
นายสมณ์ กล่าวว่า การผ่าพิสูจน์ครั้งแรก คาดแพทย์มีเจตนาดีในการหาร่องรอยทางคดี เพียงแต่อาจขาดการสื่อสารกับญาติ เรื่องการนำอวัยวะออกจากร่าง โดยร่างของผู้เสียชีวิตพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ นำมาส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อประมาณวันที่ 23 ต.ค.2560 และมีการตั้งคณะกรรมการในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ก่อนจะเริ่มผ่าพิสูจน์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยลักษณะการตายครั้งนี้ถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติและเป็นกรณีร้องเรียน จึงตั้งคณะกรรมการผ่าศพโดยมีทีมแพทย์ 3 คน หากเป็นกรณีปกติจะใช้แค่ 1คน จนถึงขณะนี้ทีมผ่าพิสูจน์ยังไม่สามารถเขียนรายงานระบุถึงผลการพิสูจน์ออกมาได้ ต้องรออวัยวะที่สูญหายไปก่อน เบื้องต้นระบุได้แค่เพียงชิ้นส่วนสำคัญที่หายไปจากร่างคือ สมองและหัวใจ ส่วนกระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ ยังไม่ชัดเจน
โดยวันพรุ่งนี้ (23พ.ย.) พนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ จะส่งอวัยวะ ให้ สถาบันนิติฯตรวจพิสูจน์ และจะใช้เวลาตรวจพิสูจน์ประมาณ 7 วัน คาดวันที่ 30 พ.ย.นี้จะสามารถสรุปผลการผ่าพิสูจน์รอบ 2 ซึ่งวิธีการจะใช้ วิธีทางจุลพยาธิวิทยาคือตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ ขณะนี้เหลือเพียงการตรวจสมอง หัวใจ และอวัยวะอื่นๆถ้าหากมี ส่วนการผ่าพิสูจน์ร่างจะไม่ผ่าซ้ำ เนื่องจากดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนกรณีญาติติดใจหรือสงสัยว่าเป็นอวัยวะของผู้ตายจริงหรือไม่นั้น นายสมณ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่น่ากังวล เพราะพนักงานสอบสวน เป็นคนยืนยันชั้นที่ 1 หากยังไม่แน่ใจก็สามารถตรวจ DNA ได้เพื่อความสบายใจ
ส่วนการนำอวัยวะของผู้ตายออกไปพิสูจน์ โดยไม่แจ้งญาติผิดจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่นั้น เรื่องนี้นิติฯ คงตอบไม่ได้ เพราะเรื่องจรรยาบรรณต้องให้แพทยสภา เป็นผู้ชี้ขาด แต่ในหลักการต้องแบ่งแยกออกเป็น 2 กรณีคือการตายแบบธรรมชาติ(ตายด้วยโรคหรือตายที่โรงพยาบาล) ต้องแจ้งญาติทุกครั้ง หากมีการผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกาย และกรณีตายแบบผิดธรรมชาติ ในกฎหมาย ป.วิอาญา 148-150 ระบุไว้ชัดเจนว่าในกรณีตายผิดธรรมชาติ ให้อำนาจตัดสินใจที่จะเอาอวัยวะออกจากร่างกายไปตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ถึงสาเหตุการตาย โดยให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่ทีมแพทย์และตำรวจ ไม่ต้องแจ้งให้ญาติของผู้ตายทราบ แต่ในมุมมองส่วนตัวมองว่าในอนาคตควรจะต้องมีการทบทวนกฎหมายเรื่อง การแจ้งให้ญาติได้ทราบหากจะมีการทำอะไรกับศพเพราะกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ส่วนการที่ญาติออกมาระบุว่าผู้ตายถูกทำซีพีอาร์นานถึง 4 ชั่วโมง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตนั้นหรือไม่นั้น นายสมณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ขอออกความเห็นเพราะไม่ทราบว่าในช่วงระยะเวลา 4 ชั่วโมงทีมที่ช่วยเหลือได้ทำซีพีอาร์ในลักษณะอย่างไร เนื่องจากการทำซีพีอาร์มีหลากหลายรูปแบบแต่ส่วนตัวมองว่าทีมที่ช่วยเหลือมีความเอาใจใส่ที่จะทำให้ผู้ตายนั้นกลับฟื้นคืนชีพได้อย่างดีที่สุด.-สำนักข่าวไทย