กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – ผู้ว่าฯ กยท.บินจีนร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพาราระหว่างประเทศ พร้อมเจรจาซื้อขายยางกับบริษัท Hainan Rubber Industrial Group ล็อตแรก 10,000 ตัน คาดเริ่มส่งปลายปีนี้
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปเมืองโบเอา มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ร่วมประชุมใหญ่ของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพาราระหว่างประเทศ ร่วมกับประเทศสมาชิกจัดตั้งกว่า 15 องค์กร เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางที่ผันผวน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ประเภทต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้ยางมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเข้าร่วมเจรจาทางการค้ากับบริษัท Hainan Rubber Industrial Group โดยตรง ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน โดยการเจรจาครั้งนี้เป็นการทำสัญญาแบบ Business to Business ระหว่าง 2 องค์กร เพื่อวางเป้าการซื้อขายยางคละแบบ ทั้งยางก้อนถ้วย ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ซึ่งจะเป็นช่องทางการตลาดสนับสนุนการพัฒนาตลาดยางของ กยท.ที่กำลังเร่งพัฒนารองรับผลผลิตของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง ตลาดยางพาราระดับท้องถิ่น 108 ตลาด ตลาดกลางน้ำยางสด รวมถึงตลาดยางก้อนถ้วยทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกที่กำลังจะเป็นเพิ่มเติม
“กยท.จะเป็นตัวกลางจัดหาและรวบรวมผลผลิต พร้อมเปิดรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความพร้อม และสนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการขอทำสัญญาซื้อยางล็อตแรก 10,000 ตัน คาดว่าพร้อมส่งมอบเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ทางฝ่ายผู้ซื้อจากประเทศจีนยังแสดงความสนใจที่จะให้ กยท.รวบรวมยางคละแบบ ทั้งยางก้อนถ้วย ยางแผ่น ยางแท่ง โดยวางเป้าหมายปีละกว่า 200,000 ตัน ซึ่งภายหลังการส่งมอบยางชุดแรกแล้ว คงจะเจรจารายละเอียดวิธีการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน” ผู้ว่าฯ กยท. กล่าว
นายธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า มณฑลไห่หนานทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพารากว่า 50 ปี เป็นพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยมีรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ปัจจุบันเฉพาะมณฑลนี้มีพื้นที่ปลูกยางกว่า 3 ล้านไร่ แต่เมื่อพบว่าการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวทำให้เผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรระยะยาว รัฐบาลจีนจึงสนับสนุนให้ผู้ปลูกยางในไห่หนานหันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน ปัจจุบันมีรายได้จากสินค้าเกษตรกว่า 8 ชนิด เช่น ส้ม ใบชา กาแฟ และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ แต่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศที่อาจไม่เอื้ออำนวยกับการปลูกยางเมื่อเทียบกับประเทศแถบร้อน ทำให้ได้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งยังเผชิญกับพายุพัดถล่มบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ายางจากประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย