กรุงเทพฯ 12 พ.ย.-การยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงปัญหาราคายางตก ยืนยัน สถานการณ์ยางพารา
ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม ของทุกปีเป็นช่วงที่ปริมาณยางออกสู่ตลาดสูงทำให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ชี้แจงประเด็นกรณีนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน
ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ กยท. ซึ่งจะเดินทางไปยังกระทรวงเกษตรฯ
ในวันที่ 13 พ.ย.2560 เรียกร้องประเด็น
1.การดำเนินนโยบายผิดพลาดในการจัดตั้ง บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด
ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาวิกฤติราคายางอยู่ขณะนี้ และยื่นข้อเรียกร้องผ่านไปถึงรัฐบาล
3 ข้อ คือ ให้ กยท. ถอนหุ้นจาก บริษัท ร่วมทุน
และจัดตั้งบริษัทใหม่โดยถือหุ้นร่วมกับเกษตรกร ให้ยึดระเบียบการบริหารราคายางพารา ตามตลาดกลางอย่างเคร่งครัด
และ ให้รัฐบาลผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง
เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับปี 2560 นี้ ภาพรวมราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาทั้งในและต่างประเทศ
ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน แต่ปัญหาราคายางขณะนี้ สาเหตุที่แท้จริงมาจาก 1.ปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้ยางไม่สมดุลกัน
ส่งผลต่อราคาขาย โดยประเทศผู้ผลิตหลักทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย
และมาเลเซีย ราคาปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
แต่ราคายางในประเทศไทยยังคงสูงกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้
ยังมีประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากปี 2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา
เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย เพิ่มขึ้น 21.0% และ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3%
ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ
และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ รวมถึง ความตึงเครียดทางการเมืองหลายประเทศ
ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อและราคาในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนอย่างรุนแรง
ส่งผลกระทบต่อราคายางในตลาดซื้อขายจริงในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย 3.
การเก็งกำไรของนักลงทุนทั้งตลาดซื้อขายจริงในประเทศและตลาดล่วงหน้า
กระทบต่อการซื้อขายทำให้ราคาในตลาดนั้นๆ ผันผวนลดลงเช่นกัน
ซึ่งการดำเนินงานนโยบายของบริษัทร่วมทุน
ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาราคายางที่กำลังเผชิญอยู่
โดยที่ประชุมร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อกำหนดมาตรการขับเคลื่อนการสร้างเสถียรภาพราคายาง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.60 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมี กยท.กับ
บริษัทยางพารารายใหญ่ 5 บริษัท เข้าร่วม ได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐ ผู้ผลิต
และผู้ส่งออก ให้จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง
เพื่อกระตุ้นแรงซื้อตลาดภายในประเทศ และชี้นำราคา
ด้วยการซื้อขายยางผ่านตลาดซื้อขายจริง (ตลาดกลางยางพารา กยท.)
และการซื้อขายสัญญาผ่านตลาดล่วงหน้า หรือ ตลาดทีเฟลก โดยไม่เน้นการแสวงหากำไร
เพื่อให้ประโยชน์ของกองทุนฯ ตกอยู่ที่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น
ที่ผ่านมา ผลดำเนินงานบริษัทร่วมทุนฯ ทำให้ราคายางปรับตัวขึ้นในระดับหนึ่งท่ามกลางราคายางที่มีทิศทางจะปรับลดลง
บริษัทร่วมทุนฯ จะเข้าไปประมูลยางในราคาที่ชี้นำ
ซึ่งเกษตรกรสามารถนำราคาไปอ้างอิงในการต่อรองซื้อขายกับผู้ซื้อในแหล่งอื่นๆ ได้
เช่น ผลของการประมูลในวันที่ 9 – 10 พ.ย. 60 ราคายางมีทิศทางจะปรับลดลง
บริษัทร่วมทุนฯ ได้เข้าประมูลในราคา 47.10 บาท ซึ่งหากบริษัทร่วมทุนฯ
ไม่เข้าประมูล ราคายางที่พ่อค้าเสนอจะอยู่ที่ 46.39 – 46.49
บาทเท่านั้น และในช่วงวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พ.ย.
บริษัทร่วมทุนฯ ชะลอการประมูลยางในตลาดตามที่แกนนำบางกลุ่มเรียกร้อง
ส่งผลให้ราคายางปรับลง 5.61 บาท
ดังนั้น ที่ผ่านมา
บริษัทร่วมทุนฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯ มาโดยตลอด
นอกจากนี้ ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งบริษัทโดยถือหุ้นร่วมกับภาคสถาบันเกษตรกร ในส่วน
กยท. จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กระทรวงการคลังกำหนด
และสำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถเข้ามาร่วมหุ้นได้
แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละสถาบันเกษตรกร
โดย กยท.ได้ปรับระเบียบตลาดกลางยางพารา กยท.
พร้อมทั้งประกาศให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึง
กรณีบริษัท ร่วมทุนฯ ได้มีการรับทราบระเบียบ พร้อมทั้งดำเนินการแถลงข่าวและแก้ปัญหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพื่อปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเช่นกัน
โครงการส่งเสริมใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ กยท.
ได้ประสานกับทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560
เป็นปีแรกที่มีการดำเนินโครงการตามนโยบาย มีหน่วยงานรัฐนำยางไปใช้ในรูปแบบน้ำยางข้น
จำนวน 10,213.49 ตัน
และยางแห้ง จำนวน 1,453.48 ตัน งบประมาณทั้งสิ้น 15,074,604,881.57 บาท ปี 2561
แต่ละหน่วยงานอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนงานและระเบียบการจัดหาของตนเอง
ซึ่งภาครัฐจะใช้น้ำยางข้น จำนวน 9,916.832 ตัน ยางแห้ง จำนวน
1,132.3895 ตัน งบประมาณรวม 11,583,115,494.570 บาท
ทั้งนี้
ภาครัฐจะเป็นหน่วยงานนำร่องใช้ยางในประเทศ ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา
เพื่อให้การนำยางไปใช้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตในความคุ้มค่าต่อปริมาณยางและงบประมาณที่ใช้ อย่างไรก็ตาม
ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเอกชน สถาบันเกษตรกร รวมถึงภาคประชาชน
ต้องร่วมมือผลักดันและใช้ยางในประเทศร่วมกัน ทั้งนี้
บางโครงการรัฐได้ให้การสนับสนุนร่วมด้วย เช่น
โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางผลิตภัณฑ์ยาง
วงเงิน 15,000 ล้านบาท ทำให้มีปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น 60,000 ตัน/ปี
สร้างมูลค่าจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง กว่า 7,600
ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
ยืนยันที่ผ่านมาดำเนินงานด้านบริหารจัดการเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน
นโยบายและเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลง
ทำให้วิธีการทำงานต้องปรับให้เหมาะสม และอาจแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติกันมา แต่
กยท.ยึดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้เกี่ยวข้องในวงการยางพารา
หวังให้ทั้งระบบเกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง และยั่งยืน
ขณะที่นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล ในฐานะรองโฆษกการยางแห่งประเทศไทย
เผยว่า สถานการณ์ยางพารา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม
ของทุกปีเป็นช่วงที่ปริมาณยางออกสู่ตลาดสูง
ทำให้ราคายางในสภาพปกติมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สำหรับปีนี้
ภาพรวมราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาทั้งในและต่างประเทศ
ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน แต่ปัญหาราคายางขณะนี้ สาเหตุที่แท้จริงมาจาก คือ ปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้ยางไม่สมดุลกัน
ส่งผลต่อราคาขาย โดยประเทศผู้ผลิตหลักทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่
ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน แต่ราคายางในประเทศไทยยังคงสูงกว่าประเทศอื่น
นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย
เพิ่มขึ้น 21.0% และ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3% ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัว
โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ รวมถึง
ความตึงเครียดทางการเมืองหลายประเทศ
ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อและราคาในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนอย่างรุนแรง
ส่งผลกระทบต่อราคายางของตลาดซื้อขายจริงในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย การเก็งกำไรของนักลงทุนทั้งตลาดซื้อขายจริงในประเทศและตลาดล่วงหน้า
กระทบต่อการซื้อขายทำให้ราคาในตลาดนั้นๆ มีความผันผวนลดลงเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย