กรุงเทพฯ 17 ต.ค.-กรมคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ จัดเวทีพิจารณาแนวทางการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก(10 ต.ค.)ของทุกปี โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ยอมรับการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในไทยให้เกิดขึ้นจริงยังทำได้ยาก
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ นายโคลิน สไตน์บัค หัวหน้าฝ่ายการเมืองและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลกประจำปี 2560 (World Day against Death Penalty 2017)
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวยอมรับว่า นักโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนด้อยโอกาส ไม่มีความสามารถจ้างทนายความที่มีฝีมือมาแก้ต่างคดี ระบบยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่มีระบบใดตัดสินได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมทุกคดี จึงอาจเกิดความผิดพลาดในการตัดสินคดี การประหารชีวิตไม่ได้เป็นแนวทางยับยั้งอาชญากรรมได้จริงเพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตลดสถิติการเกิดอาชญากรรมในสังคมได้
สำหรับการยุติการประหารชีวิตไม่ใช่การยกเลิก หรือสนับสนุนให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษแต่เป็นการยุติการลงโทษที่ไม่คุ้มค่าไม่สมเหตุ สมผล และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โทษประหารชีวิตจะถูกนำไปใช้กับผู้บริสุทธิ์ โดยสถาน การณ์การใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง พบ 141 ประเทศทั่วโลก มีการยกเลิกใช้โทษประหารชีวิต เหลือเพียงแค่ 57 ประเทศที่ยังมีโทษประหาร รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2552
สำหรับประเทศไทย มีการใช้โทษประหารชีวิตหลายวิธีซึ่งแตกต่างกันไป ตามช่วงเวลา โดยในช่วงระหว่างปี 2478-2546 จะเป็นการประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้า ต่อมา 18 กันยายน 2546 เปลี่ยนการประหารชีวิตมาเป็นการฉีดสารพิษแทน ซึ่งการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งหากไทยยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี2562 เท่ากับประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตครบ 10 ปี จึงมีผลทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พักการลงโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติตามหลัก Moratorium
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวด้วยว่า เรื่องการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในไทยให้เกิดขึ้นจริงนั้น ยังทำได้ยาก เนื่องจากกระแสสังคมปัจจุบัน ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยมาตรการทางเลือกอื่น ทัศนคติของคนส่วนมากในสังคมยังคงต้องการลงโทษเพื่อแก้แค้น โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติตามลำดับ
ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเน้นการศึกษา เพื่อเพิ่มดุลพินิจแก่ศาลที่จะลงโทษวิธีอื่นได้ในฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ระยะต่อไปจะได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการไม่ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดบางประเภท ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและรับฟังเสียงรอบข้างอย่างรอบคอบการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนความพยายาม และความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้.-สำนักข่าวไทย