กรุงเทพฯ 7 ต.ค.-บาทยังอ่อนค่า
สวนทางตลาดหุ้นที่ขยับขึ้น ลุ้นสัปดาห์หน้า ดัชนีหุ้นไทยผ่านแนวต้านที่ระดับ 1,700 จุดหรือไม่
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา
เงินบาทอ่อนค่ากว่าระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายเกือบตลอดสัปดาห์เช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย
เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด
อาทิ ดัชนี PMI
ภาคการผลิตและภาคบริการ ตลอดจนข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน
ประกอบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ กระแสข่าวที่ระบุว่านายเจอโรม พาวเวล ซึ่งมีแนวคิดแบบสายพิราบ หรือ Dovish อาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานเฟดคนใหม่หลังนางเยลเลนหมดวาระลงนั้น
กดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ ก่อนที่เงินดอลลาร์ฯ จะฟื้นขึ้นอีกครั้งก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
สำหรับในวันศุกร์ (6 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ
จากระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ก.ย.)
ด้าน ดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับเข้าใกล้ระดับ
1,700 จุด โดยดัชนี SET สัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 1,695.97 เพิ่มขึ้น 1.36% จากสัปดาห์ก่อน
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 0.42% จากสัปดาห์ก่อน มาที่
57,072.17 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 574.94 จุด เพิ่มขึ้น
0.75% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ตามแรงซื้อก่อนการรายงานประกอบการบริษัทจดทะเบียนสำหรับไตรมาส
3/60
ประกอบกับหุ้นกลุ่มพลังงานได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ หุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศซึ่งได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า
แผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ มีโอกาสจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยสภาคองเกรส หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติอนุมัติงบประมาณปี
2561 อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายทำกำไรเป็นระยะ
หลังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ระดับ 1,700 จุดไปได้
สัปดาห์ถัดไป
(9-13 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.30-33.60
บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยอาจต้องจับตาการปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุนในช่วงต้นสัปดาห์ ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า
ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,685 และ 1,675 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,720 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม
คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/60 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ
ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ
ประกอบด้วย
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือนส.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศแถบยุโรปเดือนก.ย. –สำนักข่าวไทย