รัฐสภา 5 ต.ค.-สนช.รับหลักการวาระแรกแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. ผู้สูงอายุ นำภาษีสรรพสามิต 2,400 ล้านบาท เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกคนละ 100 บาทต่อเดือน
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช.) เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ(ฉบับที่…)พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรัฐบาลจึงมีนโยบายและมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพื่อให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น แต่เนื่องจากกองทุนผู้สูงอายุที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริมการสนับสนุนผู้สูงอายุมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ
โดยสมควรเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับที่มาของเงินกองทุน ที่จะได้รับจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบ และเป็นผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนและให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เป็นผู้เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนเพื่อนำส่งเข้ากองทุน โดยตั้งเพดานงบประมาณที่มีเงินบำรุงส่งเข้ากองทุนที่ 4 พันล้านบาท และหากเกิน 4 พันล้านบาทให้กรมกิจการผู้สูงอายุนำเงินบำรุงกองทุนส่วนที่เกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ในหลายประเด็น อาทิ ตามบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของเงินกองทุน กำหนดให้เรียกเก็บเงินไปเงินบำรุงกองทุนจากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฏหมาย กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินลดลงของในทุนที่ไม่ได้ส่งเงินบำรุงกองทุนต้องเสียเงินเพิ่ม เพิ่มบทลงโทษและการเปรียบเทียบคดีเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฏหมาย เป็นต้น
ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลต้องแบกภาระด้านงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุค่อนข้างหนัก ดังนั้นหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือควรให้สำหรับผู้สูงอายุที่ยากไร้ ไม่ให้รั่วไหลไปสู่คนที่มีฐานะ ซึ่งจากการสำรวจจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย พบมีผู้สูงอายุจำนวน 5 ล้านคนที่ไม่จำเป็นต้องได้เบี้ยยังชีพ
นายสมชาย แสวงการ สนช. แสดงความกังวลถึงหลักเกณฑ์การกำหนดงบประมาณเงินกองทุนที่มีเพดานอยู่ที่ 4 พันล้านบาท ในขณะที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกับงบประมาณในอนาคต หรือจะสามารถกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่
ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ(ฉบับที่…)พ.ศ….. ด้วยคะแนนเห็นด้วย 206 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 19 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน และเสนอให้ สนช.พิจารณาวาระ2-3 ภายใน 45 วัน
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ(ฉบับที่…)พ.ศ. …. คือ การนำเงินกองทุนจากภาษีสรรพสามิตร จำนวน 2% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท ต่อปี มาดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ การนำภาษีจำนวน 2,400 ล้านบาท มาเพิ่มในเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 100 บาท ซึ่งจากเดิมผู้สูงอายุที่เคยได้เบี้ยยังชีพ 600 บาท ก็เพิ่มเป็น 700 บาท ส่วนผู้ที่อายุเกิน 70 ปี จากเดิมที่ได้ 700 บาท ก็จะได้เป็น 800 บาท แต่จะต้องจะเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และไม่ใช่ข้าราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญอย่างอื่น สำหรับภาษีที่เหลืออีก 1,600 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ การซ่อมแซม และสร้างบ้านเรือนผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นผู้ดูแลต่อไป.-สำนักข่าวไทย
