กรมอนามัย 27 ก.ย.-กรมอนามัย ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวช่วยกันคัดแยกและลดปริมาณขยะ พร้อมรักษาความสะอาดส้วมสาธารณะ เพื่อสร้างสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 27 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันท่องเที่ยวโลกสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาของสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในเมืองไทยคือ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล รวมถึงตลาดน้ำหรือร้านอาหาร จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปี 2559 มีขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศ 27.06 ล้านตัน หรือ 74,130 ตัน/วัน และมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.14 กิโลกรัม/คน/วัน จังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ และขอนแก่น สำหรับขยะในแหล่งท่องเที่ยว จากข้อมูลปริมาณขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญโดยกรมการท่องเที่ยว ปี 2559 พบว่า เมืองพัทยารวมเกาะล้าน มีปริมาณขยะเกิดขึ้น 169,725 ตัน/ปี เกาะพีพี มีปริมาณขยะเกิดขึ้น 8,395 ตัน/ปี
นพ.ดนัย กล่าวต่อว่า ข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยในอุทยานแห่งชาติโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปี 2559 พบว่า เขาใหญ่มีปริมาณขยะเกิดขึ้น 587 ตัน/ปี ดอยอินทนนท์ มีปริมาณขยะเกิดขึ้น 1,095 ตัน/ปี น้ำตกเอราวัณ มีปริมาณขยะเกิดขึ้น 365 ตัน/ปี และภูกระดึงมีปริมาณขยะเกิดขึ้น 43 ตัน/ปี ขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากนี้ มาจากการที่นักท่องเที่ยวทิ้งในแหล่งท่องเที่ยว ทิ้งลงในทะเลทิ้งในป่า ซึ่งสามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เมื่อสัตว์กินเข้าไป จะทำให้สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด ประชาชนจึงควรทิ้งขยะให้ถูกที่และแยกขยะก่อนทิ้งลงถังขยะ ไม่ใช้กล่องโฟมใส่อาหาร ใช้ภาชนะที่ย่อยสลายง่าย ไม่นำสิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ก่อไฟเผาขยะในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษและเกิดไฟไหม้ อีกทั้งช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและช่วยกันตักเตือนผู้ที่ทิ้งขยะไม่ถูกต้อง
“สำหรับการพัฒนาส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวพบว่า ผ่านมาตรฐาน HAS ร้อยละ 71 จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวใส่ใจด้านความสะอาดของส้วมต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำความสะอาดบริเวณที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษ ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ ซึ่งตรวจพบเชื้อโรค มากที่สุดคือร้อยละ 85 บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วมพบร้อยละ 31 ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะ พบร้อยละ 8 ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือพบร้อยละ 7 กลอนประตูหรือลูกบิดพบร้อยละ 3 พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการใช้ส้วมให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย