ชัยนาท 22 ก.ย.-เกษตรกรใน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ โดยการลดพื้นที่ปลูกพืชบางส่วน มาจัดสรรเป็นพื้นที่เลี้ยงแพะเนื้อขาย เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในครอบครัวได้มากขึ้น
ยุพิน ลาวัน เกษตรกรใน ต.ไร่พัฒนา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท หลังประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถปลูกอ้อย ซึ่งเป็นอาชีพหลัก ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จึงแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอ้อยมาทำปศุสัตว์ คือ การเลี้ยงแพะเนื้อ ทำให้เวลานี้การเลี้ยงแพะสามารถทำรายได้ให้เธอได้เป็นอย่างดี
สายพันธุ์ที่ยุพินนำมาเลี้ยงมี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์บอร์ ลักษณะเด่น อ้วนล่ำ เนื้อเยอะ พันธุ์ซาเนน ให้น้ำนมดี และพันธุ์แองโกล มีโครงสร้างสูงใหญ่ แข็งแรง แล้วมาผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติ โดยเอาตัวผู้ที่มีอายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป ตัวเมียอายุ 6-7 เดือน ปล่อยเลี้ยงอยู่รวมกัน ถ้าผสมติดไม่เกิน 5 เดือน แม่พันธุ์ก็จะคลอดลูกออกมา จากนั้นให้กินนมแม่ประมาณ 2 เดือน ก็เตรียมแยกลูกแพะออก
เพื่อเตรียมแม่แพะผสมพันธุ์ใหม่ 1 ปีมีลูกได้ 2 ครั้ง จากนั้นจะทำการขุนลูกแพะ อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นพืชที่หาได้จากท้องถิ่น ถ้าเป็นลูกแพะตัวผู้จะขุนให้มีอายุ 5 เดือน ก็จะส่งขายให้คนที่มารับซื้อ ส่วนลูกแพะตัวเมียจะเก็บไว้เลี้ยงใช้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป
นอกจากจะมีรายได้จากการขายแพะแล้ว ยังนำมูลแพะมาบรรจุถุงกระสอบขายเป็นปุ๋ยคอกให้เกษตรกรเป็นรายได้เสริม ส่วนที่เหลือใส่บำรุงไร่อ้อยของตนเอง ทำให้ลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้อีกทางหนึ่ง
ฟาร์มเลี้ยงแพะที่นี่ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน เกษตรกรคนไหนสนใจอยากจะลองเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม คุณยุพิน พร้อมให้คำแนะนำ.-สำนักข่าวไทย