กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในการเสวนา “Thailand’s Economic Outlook 2017 อนาคตเศรษฐกิจไทย 2560” ว่า ผลจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 3.0-3.2 ส่วนปีหน้าจะเติบโตกว่าเล็กน้อยในระดับร้อยละ 3.0-3.5 อย่างไรก็ตาม การเติบโตปี 2559 ถือเป็นระดับการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกที่ผิดปกติ เพราะกลุ่มค้าปลีกจะโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 8 โดยเฉพาะปี 2544-2545 สำหรับเม็ดเงินที่ภาครัฐบาลเร่งใช้จ่ายกว่าจะถึงกลุ่มผู้ค้าปลีกต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน โดยกลุ่มรายได้ระดับกลางถึงบนยังโตในระดับตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากผู้ที่มีรายได้ระดับกลางถึงระดับสูงยังมีกำลังซื้อ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มากถึง 30 ล้านคนไม่ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกดีขึ้นไม่ซื้อสินค้ากึงคงทนมากนัก
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 ของรัฐบาลทำได้ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้การส่งออกไม่ดีนัก แต่มีภาคการท่องเที่ยวที่ดีช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ธปท.ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัวลง เพราะได้รับกระทบจากบรรยากาศเศร้าโศกของคนไทย ขณะที่ตลาดเงินบาทตลาดหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนไหวไปบ้าง ขณะนี้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อไปได้
ด้านการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมากระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ภาคเอกชนไม่รู้สึกว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท.พบว่าภาพรวมการระดมเงินทุนเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในรูปแบบตราสารทางการเงินมากขึ้น ขณะที่การระดมเงินทุนในรูปแบบสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ลดลงและหากเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นการลงทุนภาครัฐที่ได้เดินหน้าไปจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศได้ ส่วนภาพรวมการลงทุนที่ลดน้อยลงนั้น เป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวสู่ภาคบริการมากขึ้น ซึ่งภาคบริการวงเงินลงทุนจะต่ำกว่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค , Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2558 สินเชื่อธนาคารพาณิชย์โตร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2557 แต่เดือนสิงหาคมเทียบกับเดือนธันวาคมปีนี้ระดับการขอสินเชื่อไม่โตขึ้น เนื่องจากหลายองค์กรทบทวนแผนการลงทุนและมีการชะลอการลงทุนนอกเหนือจากท่องเที่ยวและโทรคมนาคมที่มีการใช้สินเชื่อ จึงถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นเพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่เม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เช่น การซ่อมถนน ซึ่งเอกชนไม่เห็นประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจมากนัก ส่วนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแผนมากกว่า ทั้งนี้ ภาคธุรกิจก่อสร้างคาดหวังว่าปีหน้าผลจากโครงการลงทุนภาครัฐจะช่วยทำให้มีปริมาณมากขึ้นกว่าปีนี้
นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนที่เกิดจากการซื้อรถยนต์คันแรกปี 2554 และต้องผ่อนเงินค่าเช่าซื้อรถคันแรกประมาณ 1 ล้านคัน ๆ ละประมาณ 600,000 บาท การผ่อนน่าจะสิ้นสุดลง โดยจะชัดเจนไตรมาส 3-4 ปีนี้จึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากส่วนนี้เข้ามาเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ โดยจากการไม่ต้องผ่อนรถอาจเป็นไปได้จะเข้าไปผ่อนบ้านส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลดี หรือไปเลือกซื้อสินค้าที่รอผ่อนรถเสร็จก่อน เช่น โทรทัศน์เครื่องใหม่ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้อาจจะมียอดขายดีขึ้น
นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. กล่าวว่า ปตท. ประเมินว่าผลจากเศรษฐกิจโลกโตต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองหมดลงอุปสงค์อุปทานน้ำมันโลกจะใกล้เคียงกันมากขึ้น และผลจากช่วงปลายปีนี้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าปีหน้าราคาน้ำมันจะอยู่ประมาณ 50-55ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้บริษัทน้ำมันจะเริ่มพิจารณาลงทุนมากขึ้นจากที่หยุดโครงการลงทุนปีนี้ และผลจากโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุมีมากขึ้น และสังคมเมืองที่มากขึ้นเกิดเมืองใหม่ก็จะทำให้การใช้จ่ายพลังงานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง ปตท.จะลงทุนมากขึ้นเช่นกันในปีหน้า
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ ไม่ทั่วถึงฟื้นในส่วนภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ การใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนไตรมาส 2 ยอดซื้อขายรถยนต์เกิดขึ้น มองว่า เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้นไม่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และไตรมาส 4 การฟื้นตัวเศรษฐกิจจึงค่อยเป็นค่อยไป เพราะอุปสงค์ยังไม่กลับมา ดังนั้น ภาครัฐจะต้องหาทางให้การลงทุนภาครัฐต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาภาครัฐสามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 ได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศระดับการเบิกจ่ายงบประมาณที่ร้อยละ 70 เทียบกับประเทศอื่น ๆ ยังถือว่าน้อย
ส่วนปัจจัยอื่นช่วยเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน เช่น ความโปร่งใสในการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ส่วนปีหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐยังจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อไป.–สำนักข่าวไทย