ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 19 ก.ย.-‘นพ.ประเวศ’ ชี้ระบบสุขภาพของไทยยังคงมีปัญหาหลายด้าน แนะใช้วิธีปฏิรูปทั้งระบบให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำนโยบายสาธารณะสู่การปฏิบัติ หน่วยงานด้านสุขภาพร่วมขับเคลื่อน มั่นใจเห็นผลได้ใน10ปี
ในโอกาส10ปีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ศ.เกียรติคุณนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า โดยกล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่าง แม้จะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องที่เห็นได้ชัดปัจจุบันคือโรงพยาบาลของรัฐเกือบทุกแห่ง มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล มีไม่เพียงพอ ต้องทำงานหนักมาก จนทำให้เกิดปัญหาการรับบริการล่าช้า ไม่มีคุณภาพ มีความผิดพลาดในการรักษา และเกิดความขัดแย้ง ระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ทั้งๆ ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขด้วยระบบปกติได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการให้บริการสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ จากทุกฝ่ายทุกระดับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูประบบสุขภาพ คือประชาชนมีสุขภาพดี เจ็บป่วยน้อย
โดยมีข้อเสนอแนะ ให้3หน่วยงาน คือ สสส. สปสช.และ สช. ควรจับมือกันตั้งเป็นศูนย์สนับสนุนปฎิรูประบบสุขภาพ ใช้กระแสปฏิรูปของรัฐบาลปัจจุบัน อธิบายสังคมถึงความเชื่อมโยงของการปฎิรูปกับสุขภาพดี เพราะสุขภาพดีคือพื้นฐานของการปฎิรูปประเทศทั้งระบบ และต้องเป็นองค์กรที่ไม่เป็นทางการเพื่อก้าวข้ามกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป โดยมองว่าที่ผ่านมารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความเข้าใจเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพเท่าที่ควร เช่น กรณี สตง. เรื่องที่สปสช.ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อยาได้ ทั้งที่มีงบประมาณ แต่เป็นงบที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทั้งที่จริงถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ รัฐควรทบทวนและหันมาทำความเข้าใจให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ควรตั้งหน่วยสัมฤทธิศาสตร์ทางนโยบายสาธารณะ นำนโยบายสาธารณะด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่คณะกรรมการฯ ทำไว้ตลอด 8 ปี กว่า 70 มติ ไปสู่การปฏิบัติ โดย ผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำ เหมือนในหลายหลายประเทศ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องยากและกลไกปกติไม่เอื้ออำนวย ขณะเดียวกัน หน่วยพิเศษนี้ควรใช้ช่วงเวลาที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง มาร่วมหารือถึงแนวทางและนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อเป็นการวางพื้นฐานและเตรียมตัวเพราะในที่สุดประเทศไทยก็จะต้องมีการเลือกตั้งและพรรคการเมืองเหล่านี้ก็จะเข้ามาดูแลในเรื่องนโยบายด้านสาธารณสุข เพราะปัจจุบันคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นคนไกที่มีสมองแต่ไม่มีอำนาจจึงไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองทั้งหมด
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขควรมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการบริหาร รพ.เอกชนเพราะที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้และทำให้เกิดปัญหาแพทย์จาก รพ.รัฐ ไหลออกไปอยู่ใน รพ.เอกชนจนทำให้เกิดปัญหากับ รพ.รัฐอย่างต่อเนื่อง โดยอาจมีข้อกำหนดให้ รพ.เอกชน ผลิตแพทย์เอง หรือบริหาร รพ.รัฐกว่า 1000 แห่งให้เทียบเท่ารพ.เอกชน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากแล้วที่ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หากทำได้จริง ก็จะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีมาตรฐานดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาหลักของสังคมไทยลงได้
นอกจากนี้ยังมองว่า 10 ปีจากนี้ไป กลไกการปฏิรูประบบสุขภาพไทยควรจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงเป็นธรรม คุณภาพดีและมีประสิทธิภาพได้ไม่ยาก.-สำนักข่าวไทย