จ.ชลบุรี 18ก.ย.-ผบ.ทร.วางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ ท่าเรือจุกเสม็ด เชื่อมโยงระบบการขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก-ตะวันตก
พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ (FERRY TERMINAL) ณ บริเวณพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับโครงการพัฒนาประเทศตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล EEC : Eastern Economic Corridor และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ – กองทัพเรือ พ.ศ. 2559 – 2563
กองทัพเรือได้ขยายขีดความสามารถท่าเทียบเรือหมายเลข 6 ให้มีศักยภาพสามารถรองรับการให้บริการท่าเรือแก่เรือรบทางทหารและเชิงพาณิชย์ เช่น เรือสินค้าและเรือเฟอร์รี เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และเพิ่มทางเลือกเสริมการขนส่งทางบก โดยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวทางเรือและระบบโลจิสติกส์ทางน้ำเชื่อมโยงเมืองชายฝั่ง ด้วยการพัฒนาท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับเรือเฟอร์รี่ (FERRY TERMINAL) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 1 อาคาร มีพื้นที่โครงการ ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย1. อาคารผู้โดยสาร พื้นที่ใช้สอยประมาณ 6,000 ตารางเมตร ซึ่งมีส่วนประกอบต่าง ๆ รองรับผู้เดินทางท่องเที่ยว และการขนส่งทั้งรถยนต์หรือประเภทล้อเลื่อนอื่น ๆ โดยภายในอาคารผู้โดยสาร ประกอบด้วย – Souvenir Shops – Food Court – Ticket counters – Restrooms – Boarding area & Waiting area 2. ปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนขึ้นลงเรือเฟอร์รี่ของผู้โดยสารและรถยนต์บริเวณหน้าท่าเทียบ เรือเฟอร์รี่ (เป็นการดำเนินการต่อเนื่องกับโครงการงานปรับปรุงท่าเทียบเรือหมายเลข 6) ประกอบด้วย – พื้นที่จอดรถยนต์ (Parking Lots) – Internet Zone – Accommodations
โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือหมายเลข 6 ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ มีบริเวณพื้นที่ ขนาด 150 เมตร x 150 เมตร บริเวณท่าเทียบเรือหมายเลข 6 ปัจจุบันติดกับร่องน้ำ ท่าเรือจุกเสม็ดฯ มีการดำเนินการได้แก่ ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือ ความกว้าง 13 เมตร ความยาว 75 เมตร จำนวน 2 สะพาน แต่ละสะพานสามารถเทียบเรือได้ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งทำให้ได้ท่าเทียบเรือ จำนวน 4 ท่า (กำหนดเป็นท่าเทียบเรือหมายเลข 61 , 62 , 63 และ 64) แต่ละท่ารองรับเรือขนาดความกว้าง ตัวเรือ 15 เมตร ความยาว 80 เมตร ระวางขับน้ำไม่เกิน 2,500 ตัน สะพานเทียบเรือสามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 5 ตัน ต่อ ตารางเมตร
ทั้งนี้ แต่ละท่ามีความลึกน้ำหน้าท่า ดังนี้ – ท่าเทียบเรือหมายเลข 61 มีความลึกน้ำหน้าท่าประมาณ 10 เมตร – ท่าเทียบเรือหมายเลข 62 มีความลึกน้ำหน้าท่าประมาณ 9 เมตร – ท่าเทียบเรือหมายเลข 63 มีความลึกน้ำหน้าท่าประมาณ 7 เมตร – ท่าเทียบเรือหมายเลข 64 มีความลึกน้ำหน้าท่าประมาณ 5 เมตร สิ่งอำนวยความสะดวกเบื้องต้นประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ตู้จ่ายกระแสไฟฟ้า 220 V. 50 Hz. 1 เฟส ระบบโทรศัพท์ ระบบน้ำจืดและระบบน้ำดับเพลิง (หัวจ่าย 2 1/2 นิ้ว) สำหรับท่าเทียบเรือหมายเลข 63 และ 64 และบริเวณพื้นที่โดยรอบมีแผนงานขุดลอกให้มีความลึกน้ำ ไม่ต่ำกว่า 9 เมตร และสามารถรองรับเรือเฟอร์รี่ได้ด้วย.-สำนักข่าวไทย