กรุงเทพฯ 22 ต.ค.-บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานสรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวเงินบาทในสัปดาห์นี้( 17-21 ต.ค.)ว่า เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรเงินดอลลาร์ฯ หลังถ้อยแถลงจากเจ้าหน้าที่เฟดสะท้อนว่า เฟดจะยังคงใช้ความระมัดระวังในการเลือกจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนจากการที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น หลัง ECB ส่งสัญญาณสำหรับโอกาสการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินรอบใหม่ ขณะที่ ทิศทางเงินหยวนที่อ่อนค่าลงก็มีผลกระทบบางส่วนต่อบรรยากาศของสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน
สำหรับในวันศุกร์ (21 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (14 ต.ค.) ส่วนสัปดาห์ถัดไป (24-28 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.80-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศจะอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ขณะที่ ปัจจัยในต่างประเทศน่าจะยังคงเน้นไปที่สัญญาณดอกเบี้ยของเฟด ที่อาจสะท้อนผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูงหลายท่านในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (ขั้นต้น) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย เดือนก.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนส.ค. ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 3/2559 (ครั้งแรก) นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามรายงานดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
ส่วนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อในประเทศ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,500.37 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.54 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงร้อยละ 42.36 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 55,266.03 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 565.67 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 จากสัปดาห์ก่อน
ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาด ซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงไปได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้อานิสงส์จากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ ทั้งจากนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,455 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2559 และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่อาจเป็นสัญญาณสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน และจีดีพี ไตรมาส 3/2559 สำหรับข้อมูลต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMIs ของประเทศในยูโรโซน-สำนักข่าวไทย