กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – ธปท.เปิดให้บริการเชื่อมโยง e-Wallet กับระบบพร้อมเพย์ เพิ่มความสะดวกชำระเงิน
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้เปิดให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริการเชื่อมโยง e-Wallet กับระบบพร้อมเพย์ โดยมีธนาคาร 10 แห่ง และผู้ให้บริการ e-Wallet ที่เป็น Non-bank 2 แห่ง เริ่มให้บริการ และผู้ให้บริการอื่น ๆ จะทยอยเปิดให้บริการตามความพร้อมของผู้ให้บริการแต่ละราย
ทั้งนี้ การเริ่มใช้บริการ e-Wallet ของ Non-bank เชื่อมโยงกับระบบพร้อมเพย์ประชาชนต้องเปิดใช้บริการกับผู้ให้บริการตามช่องทางและวิธีการที่ผู้ให้บริการแต่ละรายกำหนด ซึ่งจะมีการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเจ้าของ e-Wallet หลังจากนั้นผู้ใช้บริการจะได้รับหมายเลข e-Wallet 15 หลัก เพื่อใช้สำหรับรับโอนเงินหรือเติมเงินเข้า e-Wallet ผ่านหมายเลข e-Wallet 15 หลัก และสามารถโอนเงินจาก e-Wallet ไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารผ่านเลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับการโอนเงินพร้อมเพย์เช่น หากเป็นการโอนเงินหรือเติมเงินไม่เกิน 5,000 บาท จะไม่เสียค่าธรรมเนียม
สำหรับการเชื่อมโยง e-Wallet กับระบบพร้อมเพย์ เป็นบริการต่อยอดจากการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่เปิดให้บริการปัจจุบัน ซึ่งเริ่มให้บริการโอนเงินสวัสดิการของหน่วยงานภาครัฐเมื่อเดือนธันวาคม 2559 การโอนเงินระหว่างบุคคลธรรมดาเมื่อเดือนมกราคม 2560 และการโอนเงินของนิติบุคคลเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ผู้ใช้บริการสามารถมั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวพัฒนาบนโครงสร้างพื้นฐานของระบบพร้อมเพย์ อีกทั้งมีการกำหนดกระบวนการเปิดใช้บริการและการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการที่รัดกุม และมีกระบวนการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์
ทั้งนี้ ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมการค้า ผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย ธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet หรือ e-Money) และบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด พัฒนาบริการเชื่อมโยง e-Wallet กับระบบพร้อมเพย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการโอนเงินหรือเติมเงินระหว่างบัญชีเงินฝากธนาคารกับ e-Wallet ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนมีช่องทางการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น และนำไปสู่การผลักดันประเทศไทยเข้าสู่สังคมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์.-สำนักข่าวไทย