กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – คปภ.เสริมความรู้ความเข้าใจผู้ประกอบการเกี่ยวกับประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของไทย คาดจะมีผลบังคับใช้ในอนาคต
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในงานสัมมนา “กฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการขนส่งทางทะเล อากาศและทางบก ได้เข้าใจข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาข้อพิพาทการประกันภัยทางทะเลมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้กฎหมายฉบับอื่นมาตัดสินคดีความ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายของประเทศและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยและ คปภ.อยู่ระหว่างนำเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามขั้นตอนกันต่อไป คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การประกันภัยทางทะเลเป็นธุรกรรมที่สำคัญต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้า การเดินเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการคุ้มครองและดูแลประกันภัยขนส่งทางเทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งการประกันภัยทางทะเลและขนส่งนั้น เป็นการประกันความเสียหายแก่เรือและทรัพย์สินหรือสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล และยังขยายของเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางบก ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย
สำหรับการประกันภัยทางทะเล ประกอบด้วย 1.การประกันภัยตัวเรือ (Hull Insurance) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวเรือจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ภัยจากลมพายุ, เรือเกยตื้น, เรือชนกัน, เรือชนหินโสโครก เป็นต้น รวมถึงการประกันค่าระวาง 2.การประกันภัยสินค้า (Cargo Insurance) คุ้มครองสินค้าที่เอาประกันภัย ซึ่งอยู่ระหว่างการขนส่งทางทะเล ภัยที่ได้รับการคุ้มครองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อความคุ้มครองไว้ โดยผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองจะมี 3 แบบให้เลือก แต่ละแบบจะให้ความคุ้มครองไม่เท่ากัน โดย 1. F.P.A. (Free from Particular Average) การประกันตามเงื่อนไขนี้ให้ความคุ้มครองแคบที่สุด คือ บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะเมื่อสินค้าเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) เท่านั้น ถ้าสินค้านั้นได้รับความเสียหายแต่เพียงบางส่วน (Partial Loss) จะไม่ได้รับการชดใช้
2. W.A. (With Average) การประกันภัยตามเงื่อนไขนี้ให้ความคุ้มครองความเสียหายโดยสิ้นเชิง และความเสียหายบางส่วนด้วย แต่ความเสียหายบางส่วนนี้จะต้องไม่ต่ำกว่า ร้อนละ 3 ของข้อมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และแบบที่ และ 3. All Risks เป็นเงื่อนไขความคุ้มครองที่กว้างที่สุด คือ ให้ความคุ้มครองทั้งความเสียหายบางส่วน และสิ้นเชิงโดยไม่จำกัดเปอร์เซ็นต์ความสูญเสียเป็นต้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการประกันภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าปีที่ผ่านมามีมูลค่าอยู่ที่ 5,267 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลการนำเข้าสินค้าและส่งออก และเชื่อว่าศักยภาพของตลาดอาจมากถึง 14,400 ล้านบาท ซึ่งคิดคำนวณจากเบี้ยประกันภัยต่ำสุด คือ ร้อยละ 0.1 ของการประกันภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าจากการนำเข้าและส่งออก โดยร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … แบ่งออกเป็น 15 หมวด 134 มาตรา โดยมีสาระสำคัญเรื่องการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยทางทะเล มีการกำหนดหลักการทั่วไป เช่น หลักสุจริตอย่างยิ่ง หลักส่วนได้เสีย หลักรับช่วงสิทธิ รวมถึงการจำแนกประเภทของสัญญาประกันภัยทางทะเล และหลักการคำนวณสินไหมทดแทนสำหรับการประกันภัยแต่ละประเภทอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย