เชียงใหม่ 10 ก.ย. – 8 กันยายน ของทุกปี องค์การยูเนสโก กำหนดให้เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือ โดยปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “การรู้หนังสือในโลกยุคดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสื่อทันสมัย” ซึ่งไทยมีความพยายามพัฒนาการเรียนรู้ หลังมีผู้ไม่รู้หนังสือกว่า 1 ล้านคน
พื้นที่ชายขอบเเละชายเเดน ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้มากที่สุดในไทย ซึ่งปัจจุบันพบกว่า 1 ล้านคน โดย 3 จังหวัดชายเเดนใต้ มีผู้ไม่รู้หนังสือกว่าร้อยละ 60 ใกล้เคียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ประชาชนร้อยละ 80 เป็นชนเผ่า อ่านเเละเขียนภาษาไทยไม่ได้
เกบอ ชนเผ่าปกาเกอญอ วัย 43 ปี นักเรียนชั้น ม.ต้น ของ กศน.อมก๋อย เล่าว่า ความไม่รู้หนังสือ ทำให้ตนใช้ชีวิตลำบาก ทำงานกับผู้อื่นได้ยาก เเต่เมื่ออ่านออก มีงานเเละรายได้มากขึ้น ตอนนี้ส่งลูกให้เข้าเรียนทุกคน เพราะการรู้หนังสือเป็นพื้นฐานที่ช่วยพัฒนาตนเอง
กศน.อมก๋อย จัดการเรียนรู้ตามความถนัดเเละเหมาะสมกับพื้นที่ ครูลงชุมชนประกบรายบุคคล เพื่อสอนภาษาไทย ทั้งฟัง พูด อ่าน เเละเขียน ผ่านอาชีพเเละวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพสังคม ศาสนา เเละใช้สื่อดิจิทัลจูงใจ ซึ่งได้ผล มีผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ราย
จำนวนผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีอัตราสูง แบ่งเป็นกลุ่มที่ลืมหนังสือและไม่รู้หนังสือ กระทรวงศึกษาธิการเร่งแก้ปัญหาเชิงรุก จัดการสอนแตกต่างตามกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มทักษะคิดวิเคราะห์ข้อมูล ก้าวทันเทคโนโลยี คาดปี 2562 ลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือร้อยละ 45 ด้านนายกรัฐมนตรีย้ำทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริมให้ทุกคนรู้หนังสือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและประเทศ
องค์การยูเนสโก เผยทั่วโลกมีผู้ใหญ่ไม่รู้หนังสือ 750 ล้านคน และเด็กกว่า 260 ล้านคน ไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาในระบบ ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้น หากไม่รู้หนังสืออาจกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือปีนี้ จึงให้รัฐทบทวนว่า ได้แก้ปัญหาผู้ไม่รู้หนังสือถูกทิศทางและเข้ากับยุคสมัยหรือไม่. – สำนักข่าวไทย