กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – กยท.เปิดยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เพิ่มใช้ยางในประเทศ-ลดส่งออก เตรียมจัดประชาพิจารณ์ 12 กันยายนนี้ เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับปรุงเป็นยุทธศาสตร์ยางฉบับสมบูรณ์
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดตัวโครงการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ยางพาราถือเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ และสามารถผลิตยางธรรมชาติ 4.4 ล้านตันต่อปี โดยผลผลิตดังกล่าวสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมประมาณ 200,000 คน และแต่ละปียางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยางพารามีปัญหาราคาตกต่ำตลอด จึงต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง โดยเพิ่มการใช้ยางในประเทศ พร้อมลดการส่งออกยางวัตถุดิบ เพื่อวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าฯ กยท.ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เป็นผู้นำของโลกด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา” โดยร่างยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ประเด็น 19 กลยุทธ์ย่อย โดยประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประเด็นนั้น ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน 3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย และ 5.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
สำหรับขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจัดทำประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมกันตัง กยท.สำนักงานใหญ่หลังจากจัดทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีที่สมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ต่อไป.-สำนักข่าวไทย