กรมที่ดิน 3 ก.ย.- อธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจง การร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ เพื่อแก้ปัญหากรณีอัลไพน์ ระบุ ที่ดินใดเป็นธรณีสงฆ์แล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า กรณีที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุการที่กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ที่ธรณีสงฆ์เป็นไปโดยสภาพของที่ดิน ที่ดินใดเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว การโอนจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หากมีการนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด ก็ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของที่ธรณีสงฆ์ กรณีจึงไม่อาจใช้วิธีการอื่นที่จะทำให้ที่ดินแปลงนี้พ้นจากสภาพการเป็นที่ธรณีสงฆ์ได้ หากผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ต้องการโอนที่ดินให้แก่เอกชน ก็ต้องตราพระราชบัญญัติโอนที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่กล่าวแล้วข้างต้น โดยกรณีดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนที่ระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดินซึ่งเขียนพินัยกรรมว่าจะมอบที่ดินให้กับวัด เป็นการเปิดช่องให้ นายยงยุทธ หยิบกฎหมายมาต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ได้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายยงยุทธ พ้นความผิดนั้น นายประทีป กล่าวว่า อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2544 เพิกถอนรายการจดทะเบียนและโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยกทั้งหมด ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งต่อมามีผู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น จึงสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งต่อมา ป.ป.ช. พิจารณาว่าการกระทำของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกรมที่ดินดังกล่าว เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ตัดสินจำคุก 2 ปีนั้น
การวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งของกรมที่ดินมีผลแต่เพียงทำให้ขั้นตอนต้องหยุดชะงักลงเท่านั้น แต่ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกฎหมายของที่ดินที่เป็นที่ธรณีสงฆ์ คำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้นผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ก็อาจเพิกถอนคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายและทำคำสั่งใหม่ได้เสมอ โดยคำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์ของสาธารณะประกอบกัน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายเกินควรแก่กรณี ทั้งนี้เ ป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 .-สำนักข่าวไทย