สมุทรสาคร 29 ส.ค. – การทำนาเกลือในปัจจุบัน แม้มีราคาที่ดีขึ้นถึงเกวียนละ 4,000 บาท แต่ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ คือ กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดผู้สืบทอดการทำนาเกลือต่อจากบรรพบุรุษ ติดตามจากรายงาน “เกษตรสร้างชาติ”
เกลือ ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมีความสำคัญต่อการถนอมอาหารให้มีอายุยืนยาวในการใช้บริโภค แต่ปัจจุบันการทำนาเกลือกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งภาวะเสี่ยงนี้มิใช่เรื่องของราคา แต่เป็นเพราะจะไม่มีผู้สืบทอดมรดกการทำนาเกลือต่อจากบรรพบุรุษ เนื่องจากกรรมวิธีการทำนาเกลือค่อนข้างยุ่งยาก ต้องอาศัยธรรมชาติ ทั้งแดด ทั้งลม หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน การทำนาเกลือท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะทำนาเกลือตามแบบฉบับดั้งเดิมของครอบครัว แต่หันไปประกอบอาชีพอื่นแทน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ณ เวลานี้มีการทำนาเกลือเหลืออยู่เพียง 30,000 ไร่ ในพื้นที่ ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์ และเขต อ.เมืองสมุทรสาคร มีการทำนาเกลือเหลืออยู่เพียง 1,120 ไร่เท่านั้น
อาจารย์เลอพงษ์ จั่นทอง ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องเกลือแห่ง จ.สมุทรสาคร เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ ต.โคกขาม เป็นสมบัติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ต่อมาได้พระราชทานที่ดินให้ชาวบ้านทำนาเกลือ มาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และรุ่นตนเอง ผ่านไปแล้ว 3 รุ่น ส่วนในรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นลูก ยังไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะรุ่นลูกหันไปประกอบอาชีพอื่น และไม่ได้สนใจที่จะสืบทอดมรดกนี้
ในทางกลับกัน ท่ามกลางวิกฤติก็มีสิ่งดีๆ เข้ามา เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มกันทั้งในรูปสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้เกลือมีราคาดีขึ้น
ปัจจุบันเกลือ 1 เกวียน หรือ 1,600 กิโลกรัม ขายได้เฉลี่ยถึง 4,000 บาท ซึ่งเกษตรกรผู้ทำนาเกลือก็คาดหวังว่า ถ้าราคาเกลือดีขึ้นกว่านี้ ในอนาคตคงเป็นเรื่องง่ายที่จะหาผู้สืบทอดมรดกการทำนาเกลือให้คงอยู่ต่อไป. – สำนักข่าวไทย