กทม. 25 ส.ค. – การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ปรากฏตัวต่อศาลวันนี้ มีผลต่อการพิจารณาคดีและอายุความอย่างไร
แม้ว่าจะเป็นวันนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว แต่เมื่อเจ้าตัวไม่มาศาล จึงมีการออกหมายจับและนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน ซึ่งตามกฎหมายไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ในวันนั้นศาลสามารถอ่านคำพิพากษาได้ทันทีแม้จำเลย ไม่ไปปรากฏตัว แต่จำเลยมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ในเวลา 30 วัน ช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงสำคัญ เพราะหากจำเลยต้องการอุทธรณ์จะต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลเท่านั้น หากไม่มาจะถือว่าหมดสิทธิ์
ในทางกลับกันจะมีผลดีต่อจำเลยในเรื่องอายุความ กรณีที่เมื่อครบกำหนดอุทธรณ์แล้วพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ประกาศใช้ จะทำให้การนับอายุความของคดีนี้เริ่มทันที และมีเวลาสิ้นสุด ซึ่งเท่ากับว่าอาจจะไม่ต้องหนีไปตลอดชีวิต เว้นแต่กฎหมายประกาศใช้จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
จากนี้ถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดำเนินการตามหมายจับเพื่อไม่ให้บุคคลนั้นเล็ดลอดออกนอกประเทศไปได้ และต้องประสานสถานทูตและกงสุลใหญ่ หากมีใครพบเห็นก็ต้องนำตัวมาดำเนินคดี แต่ยังไม่มีสิทธิ์ขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพราะศาลยังไม่มีคำพิพากษา
สำหรับอนาคตทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขึ้นอยู่กับผลคำพิพากษาของศาลฎีกาเช่นกัน หากตัดสินว่าไม่ผิดก็สามารถกลับเข้าสู่การเมืองได้ แต่เจ้าตัวก็ต้องมาลงสมัครด้วยตัวเอง แต่หากถูกตัดสินว่าผิด ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกหรือไม่ก็ตาม ถือว่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เพราะความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฐานความผิดในคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ
ต้องติดตามกันต่อไปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาปรากฏตัวต่อศาลหรือไม่ ในช่วงใด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่ออนาคตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งสิ้น. – สำนักข่าวไทย