กรุงเทพฯ 25 ส.ค.- กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันไม่ได้ดึงเรื่องขอใบอนุญาตประทานบัตรและต่อใบอนุญาตเหมืองแร่ พร้อมยืนยันธ.ค.นี้จะเสนอแหล่งแร่ให้ ครม.พิจารณา
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ใหม่และขอต่อประทานบัตรเดิมเข้ามายังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) และมีความกังวลว่า การพิจารณาที่ล่าช้าจะทำให้ต้องไปดำเนินการตามพรบ.แร่ พ.ศ.2560 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 29 ส.ค.นี้ และกฎหมายมีความเข้มข้นและยุ่งยากมากขึ้นนั้น
กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า ไม่ได้ดึงเรื่องการพิจารณาให้ล่าช้า ล่าสุดมีผู้ประกอบการได้รับการพิจารณาอนุมัติไปแล้ว 96 บัตร แบ่งเป็นใบอนุญาตประทานบัตรใหม่ 85 บัตรและใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่เดิม 11 บัตร ส่วนที่เหลืออีก 40 แปลงผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตาม พรบ.แร่แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ยังคงมีเวลาพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ และแก้ไขไปจนถึงวันที่ 28 ส.ค.นี้
ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่หรือขอต่อใบอนุญาตเข้ามาแล้ว แต่ยังติดขัดในประเด็นต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้หารือกับกพร.และกรมทรัพยากรธรณี ถึงข้อตัดขัดต่าง ๆ พร้อมจัดทำตารางเวลา(ไทม์ไลน์) ที่ชัดเจน จะเร่งดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ และมอบหมายให้นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเร่งดำเนินการในเรื่องแผนแม่บทกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่ รวมถึงพิจารณาเรื่องพื้นที่ที่มีศักยภาพ ศักยภาพทางธรณีวิทยา และเส้นทางโครงการขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในเดือนธันวาคมนี้
ส่วนกรณีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้มีข้อตกลงในเรื่องการจ่ายชดเชยค่าเสียหายหรือตกลงแต่ประกาศใด ส่วนที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
นายปณิธาน กล่าวว่า ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน การบังคับใช้พรบ.เหมืองแร่เดิมกับพรบ.แร่ใหม่ปี 60 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 ส.ค.60 นี้ ซึ่งตามมาตรา 17 ตาม พรบ.เหมืองแร่ปี 60 กำหนดเรื่องเขตแหล่งแร่ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเข้ามาดูแล แบ่งเป็นคณะอนุกรมการจัดทำแผนแม่บทกำหนดแหล่งแร่และคณะอนุกรรมการหินอุตสาหกรรม ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด มีความเห็นตรงกันว่า แผนแม่บทเขตแหล่งแร่ จะต้องจัดทำเสร็จและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเดือนธันวาคมปีนี้ สำหรับการกำหนดเขตแหล่งแร่ กำหนดตามเขตแหล่งแร่ประทานในเขตเดิมที่เคยมีการออกประทานบัตรมาแล้ว หรือเขตแหล่งหินที่เคยผ่านการพิจารณาของครม.มาแล้ว เป็นหลักเพราะไม่ต้องสำรวจใหม่ แต่พื้นที่ใหม่ๆ จะต้องพิจารณาดำเนินการสำรวจต่อไป-สำนักข่าวไทย