สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 24 ส.ค.- ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยุติเรื่อง ไม่เสนอเรื่องให้ศาลฎีกานักการเมืองส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามคำร้อง “เรืองไกร” เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ .ม.230
นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติเรื่อง กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย มาตรา 13 วรรคสาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 รวมถึง กระบวนการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่
“เนื่องจากไม่ปรากฏว่า นายเรืองไกรได้รับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรม จากกฎหมายดังกล่าว จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 230 ของรัฐธรรมนูญ ที่จะสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 ได้” นายรักษ์เกชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายรักษ์เกชา กล่าวว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวโดยตรง ยื่นเรื่องดังกล่าวเอง ก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ต้องดูว่าเดือดร้อน เสียหายจริงหรือไม่ เพราะตามมาตรา 230 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ตรววจการแผ่นดินพิจารณาก่อนว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำบุคคลนั้นได้รับความเสียหายจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ก็ทำความเห็นเสนอให้หน่วยงานนั้นแก้ไข แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย จึงจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
สำหรับประเด็นกระบวนการตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และ 2550 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากเหตุที่องค์ประชุม สนช.ไม่่ครบในการลงมติวาระที่ 3 นั้น นายรักษ์เกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า เป็นการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งเป็นการตรวจสอบก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน
ส่วนการที่นายเรืองไกรขอผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องพร้อมความเห็น ไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อดำเนินการส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกทางหนึ่งนั้น นายรักษ์เกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ให้อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะกระทำได้ .- สำนักข่าวไทย