ปิ่นเกล้า 24 ส.ค.-กรมการศาสนา เปิดเวทีประชุมขับเคลื่อนแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาต่างๆในไทย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 49/2559 แก้ปัญหาบิดเบือนหลักธรรมคำสอน
นายมานัส ธารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.)เป็นประธานการประชุมติดตามผลการขับเคลื่อนแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์การศาสนา 5 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู ซิกซ์ และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเข้าร่วม 250 คน
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า สืบเนื่องจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 49/2559 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อหามาตรการในการแก้ปัญหาความบิดเบือนหลักธรรมคำสอนและสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ศาสนิกชน โดย ครม. มีมติเห็นชอบแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาต่างๆ ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 โดยสาระสำคัญของแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา 2. ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่หลักธรรมที่ถูกต้อง 3. อุปถัมภ์ศาสนา 4.คุ้มครองป้องกันการบ่อนทำลายศาสนา 5. การสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างศาสนา และ 6.การสร้างการรับรู้และความเข้าใจในกิจการศาสนา
โดยการประชุมครั้งนี้ติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว จึงได้จัดประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและองค์การศาสนาต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงและขยายผล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เชิญประธานองค์กรศาสนาต่างๆในส่วนภูมิภาคและระดับจังหวัดเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแผนยุทธศาสตร์ โดยเป็นการทำงานตามกรอบเวลาที่ต้องรายงานความคืบหน้าไปยังนายกรัฐมนตรีทุก 3 เดือน
ส่วนการแก้ปัญหาทางด้านศาสนา เบื้องต้นได้แบ่งหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ คือศาสนาพุทธ จะเป็นการดูแลโดยคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่วนศาสนาอื่นจะเป็นสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแต่ละแห่ง
ด้านนายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองศาสนูปถัมภ์ กล่าวบนเวที ว่า หน้าที่การดูแลคุ้มครองศาสนาเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตนแต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ยอมรับว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเต็มขั้น อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาทางด้านศาสนาคือสร้างความเข้าใจถึงหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ยอมรับในความแตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้กรมการศาสนาดำเนินกิจกรรม อาทิ ศาสนิกสัมพันธ์ ให้เยาวชนจาก 5 ศาสนามาเข้าค่ายเรียนรู้หลักธรรมของแต่ละศาสนา ทั้งนี้ คนไทยนับว่าโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ศาสนูปถัมภกศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทยอยู่ร่มเย็นเป็นสุขมายาวนาน .-สำนักข่าวไทย