รัฐสภา 17 ส.ค.-สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..รับหลักการ 3 ชั่วโคตร เอาผิดญาติ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตราร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้การบริหารงานของรัฐต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผยและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จึงสมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ เพื่อเป็นการขจัดการทุจริตกละประพฤติมิชอบ และเป็นกฎหมายที่ทำเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาที่ตกลงไว้กับนานาชาติ
นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายลักษณะนี้เขียนยาก บางมาตราต้องเขียนยาว และต้องอาศัยประสบการณ์ของสนช.ที่มีความเชี่ยวชาญ ในอดีตเคยร่างกฎหมายกำหนดไว้ 7 ชั่วโคตร แต่สนช.ในยุคนั้นไม่เห็นชอบ จึงได้นำมาปรับแก้ เหลือเพียง 3 ชั่วโคตร และคำว่าญาติที่จะเข้ามาอยู่ใน 3 โครตใช้กับเรื่องเดียวคือการรับของขวัญ รับประโยชน์เท่านั้น คือบุพการี พ่อแม่ /พี่น้องร่วมบิดา มารดา /ผู้สืบสันดาน รวมถึงบุตร และไม่ได้ใช้ในกรณีที่ชั่วไป แต่ใช้ในกรณีรับเงินรับของขวัญที่ผิดประเพณี ซึ่งหากจะผิด คือคนที่รับ ไม่ใช่ข้าราชการคนนั้น เว้นแต่รู้เห็นเป็นใจในการรับ
สำหรับกรณีคู่สมรส นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ยึดกฎหมายของแคนาดา เพราะมีบางคนที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียน จึงกำหนดไว้ พร้อมทั้งเห็นว่าข้อสังเกตที่ว่า คู่ที่มีความสัมพันธ์กัน เช่นกิ๊ก เพื่อน ควรจะครอบคลุมนั้น ได้มีมาตราที่ระบุไว้ในตอนท้ายที่ระบุบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรส และบุตร ด้วย
“ส่วนข้อห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปไปทำธุรกิจใน 2 ปีหลังพ้นตำแหน่งไม่ได้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะแม้ไม่มีร่างกฎหมายนี้ แต่ก็มีอยู่ในพรบ.ป.ป.ช. และใช้มา 10 ปีแล้ว ที่คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี กำกับกิจการไหน เมื่อพ้นจากตำแหน่งจะไปเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการในหน่วยงานนั้นใน 2 ปี ไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ สนช.ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตในคำนิยามคู่สมรส โดยนางนิภัทรา อมรรัตนเมธา สนช. กล่าวว่า ในกรณีที่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่กินฉันสามีภริยา บางคนอาจจะเป็นเพียง “กิ๊ก” จะพิสูจน์อย่างไร และในกรณีที่เป็นญาติกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะญาติดีกันเสมอไป ทะเลาะกันก็มี และอาจจะกลั่นแกล้งกันได้
นางนิภัทรา ยังไม่เห็นด้วยกับการกำหนดข้อห้ามในมาตรา 9 ของร่างกฎหมายนี้ ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นตำแหน่งไม่ถึง 2 ปี เป็นกรรมการที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้างหรือดำรงตำแหน่งอื่น ในธุรกิจของเอกชนที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนในการกำกับดูแล เพราะปกติก็มีกฎหมายที่ห้ามเผยแพร่ความลับของทางราชการอยู่แล้ว
จากนั้นที่ประชุมสนช. มีมติ เป็นเอกฉันท์ รับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..ด้วยคะแนน 150 คะแนนต่อ0 เสียง งดออกเสียง 7 เสียงและตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญจำนวน 29 คนพิจารณาร่างกฏหมายฉบับนี้ แปรญัตติภายใน 15 วันกำหนดเวลาในการทำงาน 60 วัน
สำหรับเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ที่น่าสนใจคือ นิยามของคำว่า “ญาติ” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องถูกบังคับใช้ หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จนแรกเริ่มเป็น ที่มาของคำว่า “7 ชั่วโคตร” แต่ต่อมาก็ได้ปรับลดระดับลง ซึ่งร่างฉบับปัจจุบันเหลือเพียง 4 ชั้น ประกอบด้วย 1บุพการี 2.เจ้าตัว -คู่สมรส 3.พี่น้อง ทั้ง ร่วมและ ต่าง บิดา มารดา 4.บุตรบุญธรรม โดยในมาตรา 3 ได้นิยาม ต่าง ๆดังนี้ ในชั้นคู่สมรส ได้กำหนดว่าให้หมายความถึงคู่สมรสอันจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายและ ผู้ที่อยู่กินฉันสามีภริยาด้วย
ส่วน “ญาติ” หมายถึง 1.บุพการี 2.ผู้สืบสันดาน 3.คู่สมรสของบุตร 4.พี่น้องร่วมบิดามารดา 5.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา 6.บุตรบุญธรรม หรือผู้รับบุตรบุญธรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ยังมีการระบุด้วยว่า “ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวพันโดยทางพฤตินัย หรือ นิตินัย”.-สำนักข่าวไทย