นนทบุรี 11 ส.ค.-กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ผู้บริหารธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดพร้อมกันทั่วประเทศ สนับสนุนการลดภาระค่าครองชีพ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น (Local Economy) ที่ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนขั้นพื้นฐาน แต่การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่มีความได้เปรียบทางด้านเงินทุน และการใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน ทำให้ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกดั้งเดิมได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่ยังขาดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีความน่าสนใจในมุมมองของผู้บริโภค เมื่อเทียบกับห้างร้านโมเดิร์นเทรด เพื่อให้ธุรกิจค้าส่ง-ปลีกไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการในทุกระดับ ให้มีศักยภาพในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0
ทั้งนี้ กระทรวงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดร่วมกับสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ผู้บริหารธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ด้านการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ของธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกของไทย ให้เป็นที่รับรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง สนับสนุนการลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันดีระหว่างธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทย และตัวแทนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค และทางกระทรวงพาณิชย์ยังได้เชิญห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ให้เข้ามาร่วมโครงการร้านธงฟ้าเพื่อเปิดพื้นที่นำสินค้าราคาถูกจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในราคาถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งห้างส่วนใหญ่ตอบรับและพร้อมที่จะร่วมมือกับทางกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน เพื่อให้ร้านค้าปลีก โชวห่วยรายย่อย นำสินค้าจากร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบไปจำหน่ายต่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ในราคาย่อมเยาอันจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับธุรกิจค้าส่ง-ปลีกของไทยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่สินค้าอุปโภค-บริโภคที่นำมาจำหน่ายเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอื่นๆ เช่น สินค้า OTOP และสินค้าของ SME ที่มีแหล่งผลิตในท้องถิ่นก็จะนำเข้ามาจำหน่ายในร้านค้าส่งค้าปลีกด้วย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริงให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจระดับชุมชน และก่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยในท้องถิ่นต่อไป
ส่วนร้านค้า 20 บาททุกสินค้าภายในร้านนั้น กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ขัดข้องและเห็นว่าเป็นร้านค้าที่จะช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง แต่อยากให้สินค้าที่นำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคควรจะเป็นสินค้าที่ดีและมีมาตรฐานเพื่อให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าไปใช้มีมาตรฐาน.-สำนักข่าวไทย