กทม.11 ส.ค.-ในเวทีเสวนาหยุดโฆษณาฆ่าน้ำนมแม่ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำกฎหมาย นมผงฉบับใหม่ มีบทลงโทษเรื่องการส่งเสริมการตลาดคล้ายเหล้า หากพบถ่ายภาพโชว์ผลิตภัณฑ์ นมผง พร้อมคำโฆษณาในสื่อโซเชียล โดนโทษปรับ 1 แสน เริ่มบังคับใช้ 9 ก.ย.นี้
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามที่พ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมการตลาด อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ 8 ก.ย.นี้ ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลทำให้ห้ามการโฆษณาการส่งเสริมการตลาดอาหารทารก และเด็กเล็ก ห้ามมิให้การลดแลกแจมแถม หรือติดต่อกับแม่มือใหม่ ซึ่งสิ่งมุ่งหวังคือ ต้องการให้เกิดการให้นมแม่ต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรก จากนั้นค่อยส่งเสริมให้รับประทานอาหารเสริมตามวัยควบคู่กับนมแม่ โดยสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องได้ถึง 2 ปี
ทั้งนี้ กฎหมายการควบคุมเรื่องการส่งเสริมการตลาดนมผงนั้น ไม่ได้ไม่จำกัดแค่การโฆษณาตามสื่อ ยังรวมไปถึงสื่อโซเซียลด้วย โดยมาตรา 14 ระบุห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับทารก ห้ามผู้โฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็ก โดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเด็กเล็กในสื่อโฆษณาที่มีลักษณะเชื่อมโยง หรือทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นอาหารสำหรับทารก หรือเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง พร้อมกันนี้ในกฎหมาย ยังระบุห้ามบริษัทนมผงเป็นผู้สนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการและจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด มิเช่นนั้นจะได้รับโทษปรับ 3 แสนบาท
นพ.ธงชัย กล่าวว่า จะมีผลให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถทำการตลาดหรือร่วมการส่งเสริมการขายได้ เช่น การถ่ายภาพคู่กับผลิตภัณฑ์นมผง โดยจะมาอ้างว่าไม่ตั้งใจไม่ได้ ครอบคลุมเรื่องของการโฆษณาในเฟซบุ๊ค ซึ่งก็ได้รับโทษปรับและดำเนินการคล้ายกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 ปี ต้องมีการปรับแก้ฉลากของผลิตภัณฑ์นมให้มีความถูกต้อง จำแนกเป็นอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก
ด้าน พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทย พบว่า มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ตลอด 6 เดือน หลังคลอดแค่ร้อยละ 23 ขณะที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผสมกับน้ำร้อยละ 40 ทั้งนี้หากมีการให้ความรู้อย่างจริงถึงประโยชน์นมแม่ว่าการให้นมแม่สามารถทำได้ต่อ เนื่องและเป็นอาหารหลักอย่างเดียวตลอด 6 เดือนแรก จะช่วยส่งเสริมให้มีการให้นมต่อเนื่อง
สำหรับวิธีการส่งเสริมการให้นมแม่ต้องเริ่มจาก1.อย่าส่งเสริมการผ่าคลอด เพราะแม่อาจเจ็บแผลและเป็นการแยกแม่แยกลูกออกจากกัน ควรมีการส่งเสริมให้คลอดเอง เนื่องจากช่วยลดโรคและปัญหาน้ำท่วมปอดในเด็ก และในเวลา 1 ชม.หลังคลอดควรให้แม่ได้กอดลูกเอาลูกแนบอกทันที พร้อมให้ลูกดูดนม เพื่อกระตุ้นเต้าและเพื่อให้การให้นมลุกยืนยาว ควรมีระบบที่ปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เช่น สายด่วนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1415 .-สำนักข่าวไทย