กรุงเทพฯ 27 ต.ค. – นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสหากิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซระดับสากล ผ่านความร่วมมือ 3 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Mr.Jerry Wu, Country Manager of Alibaba.com Thailand
นายสมชาย กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี 4.0 พร้อมนโยบายของเอสเอ็มอีแบงก์ในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และไปสู่เวทีระดับสากล เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีนำสินค้าออกไปสู่ตลาดโลกผ่านทาง Alibaba.com ซึ่งเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากระดับโลก จึงเป็นแหล่งหาสินค้าอย่างดีสำหรับผู้ซื้อทั่วโลกด้วยเช่นกัน และยังส่งเสริมการขายสินค้าส่งระหว่างบริษัท (B2B) ผ่านทาง Alibaba.com โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีกลุ่มลูกค้า Spring Up ขณะที่ ธสน.มีกลุ่มลูกค้าด้านส่งออกและนำเข้า ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยส่งเสริมความรู้ด้านผู้ประกอบการและอี-คอมเมิร์ซ โดยคัดเลือกลูกค้า 10 รายเข้าร่วมโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะอบรมเอสเอ็มอีนำร่อง 20 ราย เพื่อทำตามข้อกำหนดให้สินค้ามีมาตรฐานสากล เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อปรับตัวรองรับการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ของอาลีบาบา จากนั้นจะมุ่งเน้นอบรมผู้ประกอบการเพิ่ม 20,000 ราย คาดว่าผู้ประกอบการนับแสนรายของไทยจะตื่นตัวการขายแผ่นแพลทฟอร์มใหม่ ไม่จำเป็นต้องเริ่มขายตลาดในประเทศ แต่ระบบอี-คอมเมิร์ซจะก้าวสู่เวทีตลาดโลก การส่งออกของสินค้าไทยจะพลิกรูปแบบไปจากเดิมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
สำหรับผลประกอบการเอสเอ็มอีแบงก์ สิ้นสุดไตรมาส 3/2559 (ณ กันยายน 2559) สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยรวม 26,253 ล้านบาท จำนวน 8,823 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.98 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 91,898 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงเหลือ 18,983 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.66 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2559 ที่มียอดเอ็นพีแอลเท่ากับ 19,486 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.66 ของสินเชื่อรวม หรือ ลดลง 503 ล้านบาท หลังจากแก้ไขหนี้เอ็นพีแอล ด้วยวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้ปิดบัญชี การขายหนี้และการตัดหนี้สูญทางบัญชี เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย