กระทรวงแรงงาน 7 ส.ค.-นายจ้างทยอยยื่นขอจ้างต่างด้าวที่ กระทรวงแรงงานต่อเนื่องหลังวันนี้เปิดรับแจ้งวันสุดท้าย ปลัดแรงงานฯ ย้ำปิดรับคิวสุดท้าย 16.30 น.คาดมีแรงงานเข้าระบบรวมกว่า 7 แสนคน ยันหลัง 31 มี.ค.ไม่ผลักดันออกประเทศแน่นอน
บรรยากาศศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งเปิดให้บริการวันนี้ (7 ส.ค.) เป็นวันสุดท้าย ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีนายจ้างเดินทางเข้ามายื่นขอจ้างต่างด้าวกันอย่างต่อเนื่อง โดยยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค.ณ เวลา 10.00 น.มีนายจ้างยื่นขอจ้างแรงงานต่างด้าว 171,161 ราย แบ่งเป็นยื่นที่ศูนย์ 158,691 ราย ยื่นทางออนไลน์ 12,470 ราย แรงงานต่างด้าวเข้าระบบแล้ว 667,207 คน เป็นเมียนมา 388,113 คน กัมพูชา 192,154 คน ลาว 86,940 คน
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ยอดสะสมตลอด15วัน ที่ผ่านมาถือว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าวันนี้หลังปิดรับคิวสุดท้ายเวลา 16.30 น.และดำเนินการเสร็จสิ้นทุกอย่างแล้ว จะมีแรงงานเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 7 แสน เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่า ตัวเลขน่าจะอยู่ประมาณ 7-9 แสนคน อย่างไรก็ตามสำหรับวันพรุ่งนี้ ที่เป็นวันแรกของขั้นตอนที่ 2 คือการพิสูจน์ความเป็นลูกจ้างนายจ้าง กระทรวงแรงงานมีความพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ ภายใต้การดูแลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อาทิ กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น โดยในพื้นที่ กทม.เปิดให้บริการทั้งหมดกว่า 20 หน่วย ต่างจังหวัด 60 กว่าหน่วย รวมแล้วทั่วประเทศกว่า 80 หน่วย ซึ่งนายจ้างจะต้องมาตามที่ใบนัดกำหนด และต้องนำลูกจ้างต่างด้าวที่ยื่นลงทะเบียนไว้ พร้อมเอกสารที่นำมายื่นในวันขอจ้างมาด้วย และหากนายจ้างเป็นนิติ มีลูกจ้างจำนวนมาก ให้เตรียมสัญญาจ้าง เอกสารการจ่ายเงินเดือน หรือหลักฐานอื่นมาด้วยเพื่อยืนยัน
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การพิสูจน์นั้นความสำคัญนอกจากจะดูว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างจริง ยังดูด้วยว่าแรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และทำกิจการที่ห้ามทำหรือไม่ โดยขั้นตอนนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.-6 ก.ย.2560 คาดวันพรุ่งนี้ที่ศูนย์กระทรวงแรงงาน มีนายจ้างกว่า 500 คน นำต่างด้าวกว่า 1,500 คนมาพิสูจน์ความสัมพันธ์ หากพบว่าเป็นลูกจ้างนายจ้างกันจริง เจ้าหน้าที่จะออกใบรับรองให้เพื่อดำเนินการเข้าสู่การพิสูจน์สัญชาติต่อไป เพื่อทำงานต่อได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2561 และหากสิ้นสุดการอนุญาตแล้ว ยืนยันจะไม่ผลักดันออกนอกประเทศ แต่จะต่ออายุให้ทุกๆ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ไข พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ให้มีความเหมาะสมก่อนที่ระยะเวลาการชะลอโทษจะหมดลง วันที่ 30 ส.ค.นี้ จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวเเทนสมาคมอาชีพต่าง ๆ เข้าหารือในการกำหนดอัตราโทษใหม่ และกำหนดอาชีพสงวนให้ตรงความต้องการ ในการใช้งานจริงมากที่สุด .-สำนักข่าวไทย