ภูมิภาค 4 ส.ค. – สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานหลายจังหวัดยังคงมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะที่ จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่การเกษตรกว่า 30,000 ไร่จมน้ำ
ที่ จ.ร้อยเอ็ด มวลน้ำในลำน้ำยัง ที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎร อ.เมยวดี อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ หลายตำบลยังจมอยู่ใต้น้ำ ประกอบการมวลน้ำจากเขื่อนลำปาวที่ปล่อยออกมาวันละหลายล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู่แม่น้ำชีมีระดับสูงขึ้น ทำให้ ราษฎรที่อยู่ท้ายน้ำใน ต.นางาม อ.เสลภูมิ ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลมาสะสมกัน มีพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 30,000 ไร่ ถูกแทนที่ด้วยน้ำจำนวนมหาศาล ท่วมเต็มทุกพื้นที่ ส่วนบริเวณพื้นผิวถนนน้ำก็ไหลเชี่ยว บางจุดถนนพังเสียหาย รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้
สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี หลังแม่น้ำมูลล้นตลิ่งไหลท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองวารินชำราบ เป็นวงกว้าง ชุมชนที่อาศัยอยู่ติดกับบริเวณริมแม่น้ำมูลแล้ว 6 ชุมชน ได้แก่ ท่าบ้งมั่ง เกตุแก้ว ดีงาม หาดสวนสุข ลับแล และดอนงิ้ว แม่น้ำมูลไหลทะลักเป็นช่วงๆ ประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำมูลไหลเข้าท่วมในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 52 ครัวเรือน ประชากรที่ได้รับผลกระทบและอพยพแล้ว 231 คน ล่าสุดเทศบาลเมืองวารินชำราบตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแล้ว
ที่ จ.นครราชสีมา น้ำท่วมที่ อ.ประทาย อ.โนนแดง และ อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา รวม 21 ตำบล 242 หมู่บ้าน ยังมีน้ำท่วมขังถนนทางเชื่อมหมู่บ้าน บ้านเรือนในที่ลุ่ม ทุ่งเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่การเกษตร นานกว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลกระทบบริเวณกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 100,000 ไร่
ยายสุข เทศสระนอก อายุ 75 ปี ชาวบ้าน ต.ตลาดไทร อ.ประทาย เดือดร้อนอย่างหนัก ต้องไล่ต้อนฝูงวัว 30 ตัว ออกหากินหญ้าบริเวณที่โล่งในหมู่บ้าน หลังจากทุ่งหญ้ากว้างขวางที่เคยเป็นที่เลี้ยงวัว ถูกน้ำท่วมจมบาดาลนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แม้ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีมวลน้ำท่วมขังลึกกว่า 30-40 เซนติเมตร คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายในอีก 1-2 สัปดาห์
ที่ จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 5 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบบจากมวลน้ำจำนวนมากไหลเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง แต่ยังมีสัญญาณที่ดี เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำที่ไหลเข้ามายังเขื่อนลำปาวเริ่มลดปริมาณลง
นายสมศักดิ์ นาชัยเริ่ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านโนนศิลาเลิง กล่าวว่า น้ำท่วมปีนี้คาดว่าจะหนักกว่าปี 2554 ระดับน้ำที่ท่วมขังบางแห่งสูงถึง 2 เมตร โดยเฉพาะถนนทางเข้าหมู่บ้านจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ต้องใช้เรือเข้ามาหมู่บ้านแทนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตอนนี้นาข้าวจมน้ำไปแล้ว 500 ไร่ ชาวบ้าน 76 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่วันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และมาตรการรับมือฝนระลอกใหม่ ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ปัจจุบันมีจังหวัดที่ยังคงประสบอุทกภัยทั้งหมด 15 จังหวัด คือ พะเยา สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครพนม นครราชสีมา หนองคาย และพระนครศรีอยุธยา. – สำนักข่าวไทย