สำนักข่าวไทย 29 ก.ค.- กรมสุขภาพจิต ส่งทีมจิตแพทย์ ดูแลจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ย้ำความเครียดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และจิตพื้นฐานของแต่ละ ชวนคนใกล้ตัว ร่วมสังเกต ยึกหลัก 3 ส สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง ช่วยกู้วิกฤตจิตใจได้ทัน
นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลพายุเซินกา ในพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ประสบภัย จึงได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือทีม MCATT จากรพ.จิตเวช และศูนย์สุขภาพจิต ลงพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อประเมินผลกระทบ ช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัย เป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติด ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และทรัพย์สินอย่างมาก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัย จะ แสดงออก แตกต่างกันไป ตามระยะของการเกิดภัย ซึ่งในระยะนี้ อยู่ในช่วงระยะวิกฤติและฉุกเฉิน ขอให้พึงระลึกเสมอว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ เช่น ช็อค โกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว เศร้าโศก เสียใจ หงุดหงิด ด้านความคิด ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี สับสน ตำหนิตัวเอง วิตกกังวล ด้านร่างกาย ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้น ตกใจง่าย และ ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด อาการเหล่าจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อวันเวลาผ่านไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิตเดิมหรือบุคลิกภาพเดิมของแต่ละคน หากยังมีความเครียดสูง ซึมเศร้า บ่นท้อแท้ หดหู่ใจ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แสงดว่ามีอาการของ โรคภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ต้องรีบรักษาและติดตามอาการอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ ทุกคนสามารถช่วยดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” และหากมีอาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือโทร.สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย