กทม. 28 ก.ค.-ก.แรงงาน ย้ำนายจ้างที่มายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว จะไม่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เนื่องจากอยู่ในช่วงของการชะลอบทลงโทษจำนวน 180 วัน ในมาตรา 101 102 119 และ 122 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีที่มีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเข้าใจผิดว่าหากเดินทางมาที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวและไปตรวจสัญชาติแล้วจะถูกจับกุมดำเนินคดีนั้นว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยได้ออกประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยกลุ่มที่ไม่มีเอกสารใดๆ แสดงตน เช่น หนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน หรือเคยมีเอกสารแต่เอกสารหมดอายุ แต่ปัจจุบันยังคงทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยให้สามารถทำงานได้ต่อไปด้วยการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวขึ้นเพื่อให้นายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวได้ที่ศูนย์รับแจ้งฯ ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างในการดำเนินการหลายช่องทางคือ นายจ้างยื่นเอง ให้ผู้อื่นยื่นแทน หรือยื่นทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องพาแรงงานต่างด้าวมาด้วย ในส่วนของเอกสารก็ไม่ยุ่งยาก มีเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคล เฉพาะหน้าแรก กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล รูปถ่ายแรงงานต่างด้าว และแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวซึ่งสามารถโหลดเอกสารได้ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน และหลังจากนายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวแล้วเจ้าหน้าที่จะนัดให้นายจ้างพาลูกจ้างมาสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง หากพบเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริง เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารรับรองการเดินทางเพื่อไปตรวจสัญชาติกับประเทศต้นทาง ซึ่งเมียนมา และกัมพูชา ได้อำนวยความสะดวก โดยเข้ามาตรวจสัญชาติแรงงานของตนในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์ OSS ขึ้น ณ จุดตรวจสัญชาติ โดยในระหว่างที่คนต่างด้าวเดินทางไปตรวจสัญชาติหรือจัดทำ PP TP TD CI หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ ทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรเพื่อดำเนินการตรวจสัญชาติดังกล่าว ให้ได้รับการยกเว้นเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
นายวรานนท์ กล่าวย้ำว่า ขอให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวสบายใจได้ว่าจะไม่ถูกจับกุมและดำเนินคดีแต่อย่างใด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการชะลอบทลงโทษในมาตรา 101 102 119 และ 122 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560 จำนวน 180 วัน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังนั้น นายจ้างและแรงงานต่างด้าวจึงยังไม่ต้องรับโทษ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 .-สำนักข่าวไทย