ภูมิภาค 26 ก.ย. – อิทธิพลพายุ “เซินกา” ทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน รวมถึงบางจังหวัดในภาคกลาง
สถานการณ์น้ำป่าจากลำห้วยแม่พวก หลากเข้าท่วม อ.เด่นชัย จ.แพร่ และบ้านห้วยกูด สูงกว่า 1 เมตร ทำให้การใช้ชีวิตและการเดินทางยากลำบาก โดยเฉพาะเวลาเด็กนักเรียนไปเรียน ขณะนี้ระดับน้ำทรงตัว กำลังทหาร อส. เร่งสำรวจเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และระดมขุดตักเศษดิน กิ่งไม้ เปิดทางไหลของน้ำ
ชุมชนตลาดใต้ ชุมชนลับแล เขตเทศบาลตำบลทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ตั้งแต่เมื่อวาน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเปิดทางระบายน้ำที่ท่วมสูงกว่า 1 เมตร จนบ้านเรือนกว่า 100 หลังเสียหาย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จ.พิจิตร นำเครื่องอุปโภคบริโภคออกช่วยเหลือชาวบ้านในเบื้องต้นแล้ว
พื้นที่บ้านป่าตึง และบ้านป่าข่า ต.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงราย น้ำพนังแม่น้ำกรณ์พังทลายจนไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 100 หลัง พื้นที่การเกษตรนับพันไร่ถูกน้ำท่วมบางจุดระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทหาร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และเทศบาลตำบลสันทราย ชาวบ้านนำเครื่องจักร กระสอบทรายเข้าซ่อมพนังกั้นน้ำเกือบแล้วเสร็จ
น้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลลงลำคลองสาขาต่าง ๆ เช่น คลองทอง คลองลอย คลองวังน้ำเขียว อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ความแรงของน้ำพัดสะพานขาดหลายแห่ง ชาวบ้านหลายหมู่บ้านเดือดร้อน อบต.ร่อนทอง ใช้เครื่องจักรกลเข้าซ่อมแซมให้ใช้ได้ชั่วคราว ส่วนสะพานที่ได้รับความเสียหายก่อนหน้านี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล
สำหรับภาพรวมจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุเซินกา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคอีสาน ข้อมูลจากกรมป้องกันและสาธารณภัยรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 5-25 กรกฏาคม เกิดฝนตกหนักน้ำป่าหลากและท่วมขังใน 28 จังหวัด เช่น ยโสธร กำแพงเพชร ชัยนาท แพร่ หนองคาย พิจิตร อุตรดิตถ์ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด เหลือเพียงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจิตร อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ที่ยังต้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านกรมชลประทานลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด หลังรับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ระบบชลประทานป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้ทุกโครงการชลประทานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะอ่างที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มากบริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่าง ให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีอ่างเก็บน้ำใดจำเป็นต้องพร่องน้ำล่วงหน้า เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะลงมาเหนืออ่างนั้น ได้ให้โครงการชลประทานที่รับผิดชอบแจ้งประชาชนและให้รายงานสถานการณ์ต่อผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง. – สำนักข่าวไทย