รัฐสภา 13 ก.ค.- สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วาระ 3 กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กำหนดให้ศาลรับฟ้องและพิพากษาคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีได้
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …. วาระ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถประทับรับฟ้องและพิพากษาคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีได้ โดยไม่นับอายุความกรณีจำเลยหลบหนีคดีที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล จนกว่าจะได้รับตัวมาลงโทษ เพื่อป้องกันการหลบหนีฟอกตัวรอหมดอายุความแล้วกลับเข้ามาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนกรณีจำเลยหลบหนีคดีที่ศาลออกหมายจับแล้ว หากไม่สามารถจับตัวจำเลยได้ภาย 3 เดือน ให้ศาลสามารถพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยจำเลยยังสามารถขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีได้ภายใน 1 ปี เพื่อมาต่อสู้หากมีหลักฐานใหม่ รวมทั้งคดีที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต ศาลต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ย้อนหลังต่อคดีที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล
ขณะที่สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หลักการที่ให้พิพากษาลับหลังจำเลยจะขัดต่อหลักกฎหมายเดิมที่ให้จำเลยต้องแสดงตัวต่อศาล บางส่วนก็มองว่า การให้ศาลพิพากษาลับหลังจำเลยจะเป็นการขัดต่อหลักสากล และตัดสิทธิการต่อสู้คดีของจำเลยหรือไม่
นายอธิคม อินทุภูติ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการพิพากษาคดีลับหลัง เนื่องจากเห็นว่า จะไม่เป็นธรรมกับจำเลยแม้จะตั้งทนายมาต่อสู้แทนก็ไม่เหมือนกับจำเลยมาต่อสู้ด้วยตัวเอง อีกทั้งเมื่อศาลพิพากษาลับหลังและก็ไม่มีตัวจำเลยมา ถือว่า เปล่าประโยชน์
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงหลักการที่ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิพากษาและประทับรับฟ้องคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีคดีว่า เรื่องนี้ต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่บังคับใช้กับประชาชน แต่กรณีนี้เป็นการบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริต ล้วนมีอำนาจสามารถหลบหนีไปต่างประเทศได้ ซึ่งมาตรการนี้จะสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถปราบปรามการทุจริตได้
นายอุดม ยืนยันว่า จำเลยที่ถูกพิพากษาลับหลังยังมีสิทธิในการต่อสู้อยู่ เพราะหลักการเดิมที่ให้มีการพิพากษาคดีต่อหน้าจำเลยนั้น ก็เพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นพิพากษาลับหลังจำเลยได้ จำเลยที่หลบหนีก็สามารถตั้งทนายมาต่อสู้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ภายใน 1 ปีหลังศาลพิพากษาแล้ว หากมีพยานหลักฐานใหม่ ไม่ได้ตัดสิทธิของจำเลยแต่อย่างใด
จากนั้น ที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วาระ 3 ด้วยคะแนน 176 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย