นครศรีธรรมราช 13 ก.ค.- ประธานเครือข่ายฯ ยางนครศรีธรรมราชระบุปัญหายางพาราต้องแก้ไขร่วมกัน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ภาครัฐ เพราะมีภาระดูแลหลายเรื่อง ชี้พยุงราคาไม่ช่วยแก้ไขอย่างยั่งยืน พร้อมเสนอใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นสร้างถนนหนทาง ลดใช้ยางมะตอย
นายวิสูตร สุชาฎา ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร เข้ายื่นหนังสือกับนายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการหาทางแก้ปัญหาร่วมกันของราคายางพาราตกต่ำ หลังจากรัฐบาลได้ออก 4 มาตรการที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถึงแนวทางอื่น ๆ
นายวิสูตร กล่าวว่า เครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ตระหนักดีว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นชาวสวนยางเองจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขไปพร้อมกันด้วย และจะไม่เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการรับซื้อยางในราคาที่สูงกว่าตลาด เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ยั่งยืน และจะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวภายหลัง อีกทั้งเข้าใจดีว่ารัฐบาลเองก็ไม่อาจรับภาระเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากได้ เนื่องจากมีภารกิจอื่นของประเทศที่เร่งด่วนและจำเป็นอีกมากมาย ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ จึงได้ประชุมและมีข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ 1.กำหนดสเปคการสร้างและซ่อมถนนลาดยางทุกเส้นทาง ให้ผสมยางพารา โดยหน่วยงานไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มในการสร้างหรือซ่อมแซมถนนเลย แม้ต้นทุนการก่อสร้างหรือซ่อมแซมจะเพิ่มขึ้น แต่สามารถปรับลดปริมาณงานลงให้สอดคล้องได้ 2. กำหนดให้ทุกหน่วยงานใช้ยางพาราผสมยางมะตอยร้อยละ 5 จะทำให้มีการใช้ยางพารามากขึ้นประมาณ 100,000ตัน ต่อปี (ปัจจุบันมีปริมาณการใช้ยางมะตอยประมาณ 2,000,000 ตันต่อปี) ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราตามนโยบายของรัฐบาลได้สูงที่สุด
3.ประชาชนผู้ได้ใช้ถนนที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมสามารถนำงบประมาณที่ลดลงจากการซ่อมแซมไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างสะพานข้ามแยกหรือสร้างถนนใหม่ได้มากขึ้น 4.เป็นการลดปริมาณยางพาราได้มากและจะส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน และ 5.ให้รัฐบาลทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยู กับสถาบันเกษตรกร เพื่อรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรส่งให้บริษัทผู้ผลิต พาราแอสฟัลต์คอนกรีต โดยรับซื้อเฉพาะที่ใช้เท่านั้นไม่เก็บสต๊อก เพราะสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ผลิตยางอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย