รัฐสภา 12 ก.ค.- “อุดม” เผยกรธ.เสนอปรับแก้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านสนช. เพื่อให้ระบบไพรมารี่โหวตเดินหน้าได้ในทางปฏิบัติ มั่นใจร่างไม่ถูกคว่ำ
นายอุดม รัฐอมฤติ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยถึงข้อเสนอปรับแก้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบของสนช.แล้ว ว่า กรธ.ได้ทำความเห็นแย้งเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งจะมีการประชุมและพิจารณาตั้งกมธ.ร่วมในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ตนจะเป็นตัวแทนกรธ.ไปชี้แจง ว่าประเด็นที่ปรับแก้นั้น ยังคงหลักการไพรมารี่โหวต แต่ปรับเพื่อให้สมบูรณ์และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งปิดช่องโหว่ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามด้วย ดังนั้นเชื่อว่า สนช.เข้าใจ และคิดว่าเมื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมและปรับแก้แล้ว ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้คงไม่ถูกคว่ำ และเชื่อว่าพรรคการเมืองสามารถปรับตัวได้ทัน เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองกับกกต.จะออกมาก่อน เพื่อให้ปรับตัว
“เราคิดว่าเราไม่ได้เห็นแตกต่างจาก สนช.เรื่องไพรมารี่โหวต เพียงแต่ว่าเรากังวลใจว่าการใช้ระบบนี้จะสอดคล้องกับการเมืองในปัจจุบันไหม จะก่อให้เกิดปัญหาที่คิดว่าจะเกิดความไม่เรียบร้อย หรือความวุ่นวายในระบบพรรคการเมือง บางพรรคก็สื่อสารมากับเราว่าอาจจะทำให้พรรคการเมืองแตกแยกกันภายในเพราะต้องแข่งขันกันในพรรค แต่แน่นอนเมื่อสนช.เห็นชอบ เราก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่ทำให้ระบบพรรคเดินไปได้ เราไม่ได้โต้แย้งเรื่องไพรมารี่โหวต เพียงแต่พยายามทำให้ระบบนี้สมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองใด ๆ จึงเชื่อว่าไม่มีปัญหา”นายอุดม กล่าว
สำหรับสาระที่เสนอปรับเปลี่ยนนั้น นายอุดม กล่าวว่า กรธ.เสนอให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครในจังหวัดใดก็ตาม จะต้องมีสาขาพรรคในจังหวัดนั้น และต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100 คน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกเขตในจังหวัด ก็สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขต และในกรณีที่สมาชิกพรรคส่งรายชื่อผู้ที่เหมาะสมลงสมัครรับเลือกตั้งไปให้กรรมการสรรหาและกรรมการบริหารพรรค เลือกให้เหลือ 1 คนเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งนั้น หากจะไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 รายชื่อ และจะสรรหาใหม่ จะต้องใช้เสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของที่ประชุมกรรมการสรรหากับกรรมการบริหารพรรค
นายอุดม กล่าวว่า ไม่บังคับว่าหัวหน้าพรรคจะต้องลงสมัครในอันดับหนึ่งของส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเกรงว่าจะเป็นการตัดสิทธิ์การลงสมัครส.ส.เขต นอกจากนี้ยังได้เสนอเพิ่มโทษกรณีที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคนั้น ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนไพรมารี่ หรือไม่ได้ทำจริง จะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และเพื่อไม่ให้กรณีดังกล่าวมีปัญหาต่อการเลือกตั้ง ทางกรธ.จึงกำหนดว่าหากพบว่าพรรคการเมือง ไม่ทำตามร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ ก็ให้กกต. หรือสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นผู้เสียหาย แจ้งความดำเนินคดีอาญา โดยที่การเลือกตั้งยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากศาลตัดสินว่าทำผิด บุคคลนั้นก็จะขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.ไปโดยปริยาย.-สำนักข่าวไทย