กรุงเทพฯ12ก.ค.-ก.แรงงาน ประชุมระดับวิชาการลาว-ไทยว่าด้วยแรงงาน หารือขยายศูนย์แรกรับฯ ฝ่ายลาว พร้อมตั้งศูนย์ปรับสถานภาพแรงงานลาวในประเทศไทยและออก CI ให้แรงงาน คาดเปิดภายในเดือน ส.ค.นี้
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมระดับวิชาการลาว-ไทยว่าด้วยแรงงาน ระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค.2560 ณ โรงแรมเดอะแกรนด์หลวงพระบาง สปป.ลาว โดยมีนางอนุสอน คำสิงสะหวัด รักษาการหัวหน้ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานและจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แห่ง สปป.ลาว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่าย สปป.ลาว
โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงสาระสำคัญของ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2560ประกาศ คสช.ที่ 33/2560 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารฯ ซึ่งได้ผ่อนปรนให้กับกลุ่มคนต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้รับหนังสือเดินทาง (PP) หนังสือเดินทางชั่วคราว(TP) เอกสารเดินทาง (TD) หรือเอกสารรับรองบุคคล (CI) แล้วตรวจลงตรา(visa) แต่ยังไม่ได้ขอใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนนายจ้างให้ถูกต้องตรงกับสถานที่ทำงานในปัจจุบันของคนต่างด้าวและการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว
ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินการนำเข้าแบบ MOU ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ จำนวน 84 ราย ในกรุงเทพฯ 39 รายและส่วนภูมิภาค 45 ราย ซึ่งบริษัทต้องวางเงินประกัน 5 ล้านบาท ตามเงื่อนไขเพื่อประกันความเสียหายในการนำเข้าแรงงาน และได้หารือเกี่ยวกับการขยายศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานลาว โดยจะเปิดศูนย์ฯเพิ่มที่สุวรรณเขต จ.มุกดาหาร ซึ่งปัจจุบันศูนย์แรกรับฯจังหวัดหนองคายออกใบอนุญาตทำงาน (E-Work Permit) ให้กับแรงงานลาวไปแล้ว กว่า 5,700 คน มีแรงงานมาใช้บริการจำนวนกว่า 17,000 คน
นอกจากนี้ได้หารือเกี่ยวกับการปรับสถานภาพแรงงานลาวที่ถือบัตรสีชมพูซึ่งมีอยู่ประมาณ 71,000 คน และกลุ่มไม่มีเอกสารแสดงตน โดยฝ่ายลาวแจ้งว่ากลุ่มบัตรสีชมพูจะตั้งศูนย์ปรับสถานภาพแรงงานลาวในประเทศไทยซึ่งคาดจะเปิดดำเนินการได้ภายในเดือน ส.ค.นี้โดยฝ่ายลาวจะออก CI ให้แรงงาน มีค่าธรรมเนียมและค่าบริการประมาณ 2,000 บาท ผู้ติดตามประมาณ 400 บาท สำหรับกลุ่มไม่มีเอกสารแสดงตน ฝ่ายลาวจะออกใบอนุญาตเดินทางชั่วคราวให้ เป็นเวลา 5 วัน เพื่อกลับ สปป.ลาว จากนั้นแรงงานต้องทำพาสปอร์ตเพื่อกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยต่อไป
นายวรานนท์ กล่าวว่า ฝ่ายไทยจะร่วมประชาสัมพันธ์เป็นภาษาไทยและภาษาลาวพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้บริการที่ศูนย์ฯ ในด้านต่างๆ เช่น การจัดคิว จัดหาโต๊ะ เก้าอี้เพื่อให้เพียงพอกับอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ และกระทรวงการต่างประเทศจะยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวที่เข้ามาทำงานที่ศูนย์ฯ ผ่านช่องทางการทูตอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย