สำนักงานอัยการสูงสุด 11 ก.ค. – สำนักงานอัยการสูงสุด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอัยการที่ปรากฎเสียงในคลิปวิดิโอ คล้ายกับคนเมาและเบ่งทับตำรวจที่ไม่พาเดินทางไปร้านลาบชื่อดังในชลบุรี ซึ่งอัยการคนดังกล่าว เคยมีพฤติการณ์ลักษณะคล้ายกันเมื่อปี 2558 ย้ำเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร
ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกฯ แถลงกรณีชายอ้างตัวเป็นอัยการเมากร่างสั่งตำรวจสายตรวจให้พาไปร้านลาบ แต่นายตำรวจไม่ปฏิบัติตามเพราะติดภารกิจลาดตระเวนดูแลประชาชน กระทั่งมีการเรียกตัวมาพูดคุยเพื่อเบ่งทับและมีการบันทึกคลิปเสียงเผยแพร่บนโลกออนไลน์ โดยสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับนายธนพล จูฑะเตมีย์ อัยการพิเศษ ฝ่ายคดียาเสพติด 1 สำนักงานคดียาเสพติด หลังพิจารณาคลิปเสียง, ข้อความในเฟซบุ๊ก รวมถึงพฤติกรรมในอดีต ทำให้น่าเชื่อว่าเป็นเสียงพูดของนายธนพล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคนเมาสุรา เป็นคำพูดไม่เหมาะสม กระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร โดยกำหนดกรอบระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน
ส่วนกรณีเดือนเมษายนปี 2558 โลกออนไลน์ได้เผยแพร่คลิปวิดิโอ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยขณะนั้นมีการระบุว่าเป็นอัยการเมากร่างใส่ตำรวจที่ด่านตรวจวัดแอลกอฮอลล์ ท้องที่ สน.บึงกุ่ม กระทั่งมีการสอบสวนข้อเท็จจริง และพบว่าคือนายธนพล ซึ่งประชุมคณะกรรมการอัยการมีมติให้ย้ายนายธนพลจากสำนักงานอัยการคดียาเสพติด ไปประจำสำนักงานคดีแพ่ง เป็นการชั่วคราว กระทั่งสอบสวนวินัยแล้วเสร็จ จึงมีมติลงโทษทางวินัยไม่เลื่อนตำแหน่ง (ตกคิว) 1 ปี เนื่องจากความผิดไม่ใช่เรื่องการทุจริตที่มีบทลงโทษร้ายแรงในการแต่งตั้งโยกย้ายช่วงเดือนกันยายน 2559 นายธนพลกลับมานั่งตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดียาเสพติด และเลื่อนเป็นอัยการพิเศษ ฝ่ายสำนักงานคดียาเสพติด 1 ในเวลาต่อมา
สำหรับการกระทำผิดของข้าราชการอัยการในลักษณะดังกล่าว มีบทบัญญัติชัดเจนใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ตามมาตรา 68 คือ “ข้าราชการอัยการต้องไม่ประพฤติตนเป็นคนเสเพล มีหนี้สินรุงรัง เสพของมึนเมา จนไม่สามารถครองสติได้ เล่นการพนันเป็นอาจิณ กระทำความผิดอาญา หรือกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว หรือ กระทำการอื่นใด อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ”
ซึ่งหากกระทำผิดตามข้อใดข้อหนึ่งตามมาตรา 68 จะต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากผลออกมาว่า “ผิดวินัยไม่ร้ายแรง” สำนักงานอัยการจะดำเนินการเอาผิดทางวินัย ตามมาตรา 88 ส่วนใหญ่จะลงโทษงดการเลื่อนตำแหน่ง หรือ ขั้นเงินเดือน ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือลงโทษภาคทัณฑ์ตามที่กำหนดสมควร
แต่หากผลการสอบสวนออกมาว่า “ผิดวินัยร้ายแรง” สำนักงานอัยการสูงสุด ก็อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเชิงลึกอีกครั้ง ว่าเป็นความผิดทางอาญา หรือ ประมาทหรือไม่ ซึ่งจะมีบทลงโทษลดหลั่นกันไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 84 ซึ่งกำหนดโทษไว้ 5 สถาน ไล่เรียงตั้งแต่ ไล่ออก, ปลดออก, ให้ออก, งดการเลื่อนตำแหน่ง หรือ งดเลื่อนชั้นหรือขั้นเงินเดือน และภาคทัณฑ์
ส่วนความเคลื่อนไหวอีกด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่มีการอ้างว่านายตำรวจ 2 นาย เดินทางไปขอโทษอัยการที่ไม่พาไปร้านลาบตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยตามระเบียบวินัยของตำรวจชัดเจนว่าผู้ใต้บังคับบัญชาต้องฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา แต่ข้อสั่งการใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายตำรวจชั้นผู้น้อยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามได้ ซึ่งเรื่องนี้ขอเวลาตรวจสอบ 7 วัน ว่ามีการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาจริงหรือไม่. -สำนักข่าวไทย