ม.รังสิต 9 ก.ค.- “สุริยะใส” ชี้ เดิมพันปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ สูงกว่าทุกครั้ง ถ้าทำไม่ได้ ประชาชนหมดหวัง เหตุ 36 กรรมการมาตาม รธน. แนะจับตากระะบวนการ-เนื้อหา ห่วงกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เห็นว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจั้ง 36 คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 260 มีสถานระพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกที่บัญญัติเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ ภารกิจและกรอบเวลาไว้ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการชุดนี้ จะถูกคาดหวังสูงจากประชาชน
“ที่สำคัญประเด็นการปฏิรูปตำรวจ ก็ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับต้นๆ ที่สังคมอยากเห็น ดังนั้น เดิมพันปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ จึงสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา และถ้าครั้งนี้ทำไม่สำเร็จ ก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังได้อีก” นายสุริยะใส กล่าว
นอกจากนี้ นายสุริยะใส ยังเห็นว่า กรอบเวลาที่เหลือ 8-9 เดือน ไม่น้อยจนเกินไป เพราะมีงานวิจับ มีข้อเสนอเดิมอยู่มากแล้ว จุดที่ต้องจับตา คือ กระบวนการทำงาน และการกำหนดประเด็นหรือ การตั้งโจทย์พิจารณา เพราะถ้าออกแบบผิด หรือ ตั้งโจทย์ผิด ก็เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดไปด้วย โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องมีความขัดเจน รวมทั้ง การรับฟังตำรวจชั้นผู้น้อย หรือ ชั้นประทวน ก็ควรมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย
“การกำหนดประเด็นและเนื้อหา แนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แนะไว้ ถือว่ามาถูกทาง คือ การปฏิรูประดับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เช่น การกระจายอำนาจยึดโยงกับจังหวัดและท้องถิ่น การแยกอำนาจสอบสวนให้มีความเป็นอิสระการพิจารณาอัตรานายพลที่มีมากเกินจำเป็น ฯลฯ เพราะนี่เป็นต้นเหตุของปัญหาใน สตช.” นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะมา กล่ามว่า รัฐธรรมนูญ หมวดปฏิรูป ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ระบุไว้ชัดว่า ต้องทำให้งานด้านสอบสวนมีความน่าเชื่อถือ และให้นำระบบนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามาใช้ในงานสอบสวนพิสูจน์หลักฐาน โดยกำหนดให้มีมากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่เป็นอิสระจากกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เสียหายด้วย
“เมื่อตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจจึงต้องสร้างแรงส่ง ให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย” นายสุริยะใส กล่าว .- สำนักข่าวไทย