กรุงเทพฯ 8 ก.ค.- “มานิจ” เตรียมเสนอให้เปิดตู้ไปรษณีย์รับฟังความคิดเห็นปฏิรูปตำรวจ เชื่อ ทำงานทันกรอบ 9 เดือน ขออย่ามองทหารปฏิรูปตำรวจ
นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผย ถึงการประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จะนทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (7 ก.ค.) ว่า เป็นการรับฟังความเห็นของนายกรัฐมนตรี ในการกำหนดกรอบการทำงาน ที่แบ่งเป็น 3 ช่วง หรือ 2-3-4 ให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ 9 เดือน โดย 2 เดือนแรกจะเป็นการรับฟังความเห็นจากประชาชน และรวบรวมวิเคราะห์ผลการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจ จากนั้น อีก 3 เดือนจะเป็นการร่างกฎหมาย และแก้ไขปรับปรุงระเบียบ ส่วน 4 เดือนสุดท้าย จะเป็นการรับฟังความเห็นจากประชาชน และประกาศใช้กฎหมาย และหากมีข้อติดขัด สามารถใช้กฎหมายพิเศษตามคำสั่งมาตรา 44 เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น โดยจะจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้
“เชื่อว่า กรอบระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นและประมวลผลการศึกษา 2 เดือนจะเพียงพอ เพราะฝ่ายเลขาฯ ได้รวบรวมผลการศึกษาจากนายคณิต ณ นคร นพ.ประเวศ วะสี พล.ต.อ.สิษฐ เดชกุญชร หรือแม้แต่ข้อเสนอของกลุ่ม กปปส. และนำโมเดลของต่างประเทศ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นไทย และผมจะเสนอให้เปิดตู้ไปรษณีย์รับฟังความคิดเห็น เชื่อว่า เวลาอีก 9 เดือนจะทำให้การปฏิรูปตำรวจเสร็จทันตามกรอบเวลา” นายมานิจ กล่าว
นายมานิจ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่จะให้มีการแยกงานสอบสวนและสืบสวนออกจากกันนั้น เห็นว่า เป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ เพราะหากงาน 2 ส่วนนี้อยู่ด้วยกัน อาจมีการตั้งธงในการทำงาน และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชน ดังนั้น เมื่อการปฏิรูปครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง และถูกจับตาจากสังคม จึงต้องทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
“ส่วนตัวเห็นว่า โครงสร้างองค์กรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีความเหมาะสม ไม่ย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ปลอดการครอบงำจากฝ่ายการเมือง และจะต้องเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ให้ใช้ช่องทางของกฎหมายไปทำในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” นายมานิจ กล่าว
นายมานิจ ยังขอว่า อย่าคิดว่าจะให้ทหารมาปฏิรูปการทำงานของตำรวจ เพราะคณะทำงานที่ตั้งมา ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และถือว่าทุกคนเป็นคนธรรมดา แม้แต่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการ ก็เกษียณแล้ว ถือเป็นประชาชนธรรมดา และต้องรับบริการจากตำรวจ
.- สำนักข่าวไทย