ทำเนียบรัฐบาล 7 ก.ค.-พล.อ.บุญสร้าง ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มั่นใจปฏิรูปสำเร็จแต่จะทำให้ทุกคนพอใจไม่ได้ ประกาศยึดหลักสายกลางไม่สุดโต่ง ย้ำ ต้องทำให้การซื้อขายตำแหน่งหมดไป
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงภายหลังการประชุม ร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อรับมอบนโยบาย ว่า การประชุมวันนี้ (7ก.ค.) นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกคนทำงานเต็มที่ ซึ่งในระยะเร่งด่วนขอให้กำหนดเรื่องการบริหารงานบุคคลให้เสร็จตามแผนที่ได้กำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ เน้นแก้ปัญหาการโยกย้ายตำรวจซื้อขายตำแหน่ง ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุม คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจนัดแรก เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการคณะทำงานเพื่อกำหนดเป้าหมายในการทำงาน นำผลการศึกษาจากในอดีตมาหาข้อสรุป โดยสัปดาห์หน้าจะประชุมหนึ่งครั้งแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นการประชุมสัปดาห์ละสองครั้ง สำหรับสถานที่ในการจัดการประชุมจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทั้งทำเนียบรัฐบาล กองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ วปอ.
ส่วนเรื่องการแยกงาน สอบสวนออกจากตำรวจ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่าจะต้องมีการคิดต่อและหาคำตอบให้ได้โดยเร็วรวมถึงการกระจายอำนาจ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากพื้นที่ต่างจังหวัด ทำอย่างไร ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์ในกรุงเทพมหานครอย่างเดียว เมื่อถามว่าการมาทำหน้าที่ประธานในครั้งนี้คาดหวังการปฏิรูปตำรวจออกมาในรูปแบบใด และการวิจารณ์ ว่าภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมจะแก้ไขอย่างไร พล.อ.บุญสร้างระบุว่าเป็นหน้าที่ในการทำงาน และต้องเป็นไปตามคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย ทุกอย่างที่ทำจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะท้ายที่สุดแล้ว ก็ทำเพื่อประชาชน รวมถึงจะมีการประเมินผลการทำงานมีอะไรที่ต้องปรับแก้ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด
“สิ่งแรกที่จะเร่งดำเนินการคืองานบริหารบุคคลที่จะต้องให้การแต่งตั้งโยกย้ายที่มีการซื้อขายตำแหน่งต้องหมดไป การทำงานจะยึดหลักสายกลางเพราะหากทำสุดโต่งก็จะหาข้อสรุปได้ยาก ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียแต่สิ่งสำคัญ ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดต้องตกอยู่ที่ประชาชน นอกจากนี้จะยึดหลักปรัชญาพอเพียงหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง ซึ่งการปฏิรูปตำรวจอาจจะไม่ได้ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจแต่จะต้องทำด้วยความปรารถนาดีหวังดีเน้นทางสายกลาง” พล.อ.บุญสร้าง กล่าว
พล.อ.บุญสร้าง กล่าวทิ้งท้าย ว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทุกคนมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นในการทำงานจึงขอฝากความรักความหวังดีของคณะกรรมการทุกคนสู่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความร่วมมือกับการทำงานด้วย
พล.อ.บุญสร้าง ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ว่า สืบเนื่องจากตนเองได้เกษียณอายุราชการมาแล้ว และเมื่อมีเรื่องใดที่ทำเพื่อส่วนรวมได้ ก็ไม่ควรจะปฏิเสธ และมองว่าที่เลือกตนเพราะคงไม่มีใคร แต่หากมีคนอื่นที่ดีกว่าก็ยินดีเช่นกัน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ กับตน
เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการปฎิรูปตำรวจครั้งนี้สังคมคาดหวังค่อนข้างมาก ในฐานะประธานจะให้ความเชื่อมั่นอย่างไรว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ขั้นตอนเรื่องปฎิรูปนี้ต้องทำให้สำเร็จ เพราะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องเสร็จเมื่อใด แต่ในความเป็นจริงจะสำเร็จหรือไม่นั้น หากตอบว่าสำเร็จ คงมองว่าชั้นเลิศ แต่จะให้พอใจทุกคนมันคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราจะต้องทำให้ดีที่สุด ทุกอย่างไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ ตนเชื่อมั่นเมื่อดูตัวคณะกรรมการแล้ว ที่ตั้งมาคนดีๆ ทั้งนั้น เป็นคนที่ให้ความร่วมมือ และไม่ใช่คนที่มีความคิดสุดโต่ง เชื่อมั่นว่าจะทำได้
เมื่อถามว่า ครั้งนี้จะพลิกโฉมวงการตำรวจได้หรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ตำรวจมีคนดีๆ หลายคน ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้ต้องดีขึ้น เมื่อถามว่า รูปแบบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจะยึดแบบกองทัพหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า คงไม่มีอะไรตายตัวขนาดนั้น ขอให้คณะกรรมการช่วยกันคิด
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าสัดส่วนของตำรวจในคณะกรรมการชุดนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการผ่าตัดโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ลงเอยมันคงน้อยมากสำหรับโอกาสที่จะโหวตด้วยวิธีการยกมือว่าของใครมากกว่ากัน เราคงไม่ทำงานด้วยการเอาชนะ แต่จะทำงานด้วยการชวนกันให้ลงความเห็น ใช้เหตุผล ดังนั้น จะไม่ค่อยมีปัญหา มันไม่ใช่สภา อย่างกองทัพเราทำงานด้วยการช่วยๆ กันคิด
เมื่อถามว่า ส่วนตัวมีโมเดลตำรวจของประเทศใดในใจบ้าง พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เรื่องตำรวจเขามีการศึกษาและจัดทำไว้มากมาย หลังจากนี้จะได้มีการสรุปให้ทุกคนรับฟัง และวันนี้มีคนหนึ่งที่รู้เรื่องตำรวจดีบอกว่าไม่มีองค์กรไหนในประเทศไทยที่มีการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างจนมีข้อมูลมากที่สุดเท่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงสร้างของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ ว่า เมื่อมีการประกาศแต่งตั้ง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีตำรวจเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ จำนวนมาก ซึ่งต้องชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้ว ว่าต้องมีตำรวจเท่ากับผู้ที่ไม่เป็นตำรวจ ดังนั้นจึงมีตำรวจ 15 คน พลเรือน 15 คนเท่ากัน และคนที่เป็นประธาน ต้องเป็นคนเข้าใจงานของตำรวจ เข้าใจเกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์กรและความมั่นคง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ทาบทามไปหลายคน ทั้งคนที่เป็นที่รู้จักในสังคม แต่บางท่านก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงไม่สะดวกที่จะเข้ามาทำหน้าที่ สุดท้ายได้ พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ มาเป็นประธาน ซึ่งพลเอกบุญสร้างเป็นทหาร แต่ก็เกษียณมา 10 ปีแล้ว และมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดี ส่วนกรรมการอีก 5 คน เป็นโดยตำแหน่ง คือปลัดกระกรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนั้น ขอกรุณาอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดความร้าวฉาน ว่าเอาทหารมาปฏิรูปตำรวจ และประธานก็เป็นทหารที่เกษียณมา 10 ปี และมีกรรมการที่ไม่ใช่ทหารอีกจำนวนมาก เป็นทั้งอาจารย์ นักวิชาการ และอธิการบดี
นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะเริ่มประชุมอย่างเป็นทางการ ในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม ที่กองบัญชาการกองทัพไทย และจะประชุมสัปดาห์ละ 1-2 วัน โดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนสถานที่กันไป ทั้งสำนักงานตำรวจะแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะกรรมการนี้จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้น โดยจะหารือกันในสัปดาห์หน้า ว่าจะมีกี่ชุดและมีใครบ้าง รวมถึงต้องมีอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยให้เชิญ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคน มารับฟังความคิดเห็น รวมถึงประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า ตำแหน่งเลขานุการ ของคณะกรรมการฯชุดนี้ ได้เสนอให้ พลตำรวจเอกรุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ ส่วนผู้ช่วยเลขานุการ ให้มาจากตำรวจฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่ตำรวจฝ่ายหนึ่ง พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมการฯ
นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำวิจัยเรื่องปฏิรูปตำรวจกันมาหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้รวบรวมจากทุกฉบับ ทำเป็นหัวข้อ แจกให้คณะกรรมการฯศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณา
” นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในประเด็นใหญ่ 3 ข้อ คือ 1.ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าควรสังกัดอยู่ที่ใด เช่น อยู่เช่นเดิม หรือกลับไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือสังกัดกระทรวงยุติธรรม จังหวัด ท้องถิ่น หรือ ตั้งกระทรวง ทบวง และโครงสร้างที่มีอยู่ ควรจะกระจายอย่างไร ไม่ควรกระจุก เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตลอดจนตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้ไปดูว่าควรย้ายไปที่ไหนหรือไม่
2.กระบวนการยุติธรรม ต้องพิจารณาอำนาจการสอบสวน ว่าจะคงอยู่อย่างเดิม หรือแยกอย่างไร จะรวมถึงจะทำงานหรือประสานกันอย่างไร ระหว่างมหาดไทย อัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ3.การบริหารงานบุคคล หมายถึงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย คัดคนเข้ามาเป็นตำรวจ จะใช้ระบบอะไร หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจเหมาะสม ทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลด ย้าย วินัย การมีเครื่องแบบหรือไม่มี การโอนย้ายตำรวจไปกระทรวงอื่น เทียบตำแหน่งอย่างไร รวมถึงการจัดกำลังเสริมการทำงาน การซื้ออาวุธ รวมถึงในแง่นิติวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการเสริมการทำงานของตำรวจ จะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมงานได้กับหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งทั้งหมด นายกฯได้เสนอแนะ จะทำตามหรือไม่ก็ได้ และนายกฯ ได้เขียนด้วยลายมือ 13 หน้า และอธิบายให้ฟัง รวมถึงให้โจทย์ไปดูด้วยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายจะใช้อาวุโสล้วน หรือ อาวุโส ผสมกับคุณงามความดีความชอบ แบ่งสัดส่วนอย่างไร ซึ่งในเรื่องอื่นช้าได้ เรื่องนี้ต้องทำก่อน และต้องเสร็จภายในปีนี้ ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งหมด 9 เดือน แบ่งเป็น 2 เดือนคุยปัญหา / 3 เดือน ยกร่างกฎหมายและกำหนดกฎเกณฑ์ / 4 เดือนรับฟังความคิดเห็น แต่งเติมส่วนบกพร่อง รวมเป็น 9 เดือน ซึ่งครบอายุของคณะกรรมการชุดนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ และเห็นพ้องกับข้อเสนอต่างๆ พร้อมระบุว่า ทุกคนรู้ว่ามีโจทย์อะไรบ้าง แต่สิ่งที่คนทั้งประเทศรอคือ คำตอบ ซึ่งเป็นสิ่งทีคณะกรรมการจะไปดำเนินการ และหากมีความจำเป็นต้องใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ก็พร้อมจะดำเนินการ.- สำนักข่าวไทย