กรุงเทพฯ
5 ก.ค.- สยามแก๊สฯ เชียร์ กบง.ปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกแอลพีจี เหตุราคาโลกยังต่ำ พร้อมแข่งขันผู้นำเข้ารายใหม่ ส่วนยอดขายตลาดรวมก๊าซยังลดลง
เหตุเศรษฐกิจชะลอและราคาน้ำมันตกต่ำ
นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท
สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสจีพี กล่าวว่า บริษัท เห็นด้วย
หาก กระทรวงพลังงานจะพิจารณาดำเนินการตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)
ตามแผนระยะที่ 2 คือ การเปิดเสรีแอลพีจีทั้งระบบ
โดยยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา รวมถึงยกเลิกประกาศราคา ณ
โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เนื่องจากปัจจุบันราคาแอลพีจี เดือน กรกฎาคม 2560 ลดลง เหลือประมาณ
350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามทิศทางน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่า
“ราคาตลาดโลกต่ำ
เงินบาทแข็งค่า นับเป็นจังหวะที่เหมาะสมหากจะปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกแอลพีจี เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แอลพีจี
โดยโรงกลั่นน้ำมันไม่ต้องอุดหนุนราคา แต่โรงแยกก๊าซฯ ปตท.
รัฐยังต้องเก็บเงินส่วนต่างระหว่างแอลพีจี ณ โรงแยกก๊าซ กับ แอลพีจีนำเข้าส่งเข้ากองทุน
เพื่อให้ราคาแอลพีจีนำเข้ากับราคาแอลพีจีในประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
และเกิดการแข่งขันด้านต้นทุน” นางจินตณา
กล่าว
นางจินตณา
กล่าวว่า บริษัท
ประเมินว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงขึ้นไม่เกินระดับ 600 ดอลลาร์ต่อตัน และในอนาคตคงจะเห็นไม่เห็นราคาแอลพีจีตลาดโลกปรับขึ้นไปแตะระดับ
1,000 ดอลลาร์ต่อตันเหมือนในอดีต
เพราะกำลังการผลิตน้ำมันยังมีทิศทางเกินความต้องการเพราะกำลังผลิตมาจากสหรัฐที่ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน(เชลลล์ออยล์)
ในขณะที่กำลังผลิตจากทั้งกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังมีเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ทั้งราคา
น้ำมันดิบและแอลพีจีจะยังอยู่ในระดับต่ำ
แต่หากในอนาคตราคาแอลพีจีกลับไปสูงขึ้น
ภาครัฐควรจะต้องกำหนดกลไกด้านราคาเพื่อดูแลผู้ใช้แอลพีจีด้วย
ส่วนกรณีที่มีรายใหม่ ยื่นขอจะทดเบียนผู้ค้ามาตรา
7 เพื่อนำเข้าแอลพีจีจำหน่ายในประเทศไทย เช่น บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น
และผู้ใช้แอลพีจีจะได้ประโยชน์จากราคาที่แข่งขัน ซึ่งบริษัท พร้อมแข่งขัน กับรายใหม่เนื่องจากมีความแข็งแกร่งด้านการตลาด
ในขณะที่ ภาพรวมตลาดแอลพีจียังซบเซา
หากเข้ามาทำตลาดค้าปลีกก็ต้องไปซื้อกิจการจากรายเล็กๆ
หรือหากทำตลาดใหม่ก็เป็นเรื่องยาก
นางจินตณา กล่าวว่า
บริษัท คาดว่า ยังติดลบร้อยละ 1-2 จากปีก่อน
ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ
และจากการลอยตัวราคา ในขณะที่ ราคาน้ำมันตกต่ำ
ก็ทำให้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซหันไปใช้น้ำมันเช่นเดิม ภาพรวมก็ทำให้
ทำให้ยอดขายแอลพีจีทุกภาคทั้งครัวเรือน,ขนส่ง และอุตสาหกรรมหดตัวลง โดยไตรมาส 1
ของปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายแอลพีจีตลาดรวม ลดลงร้อยละ 2.8
ขณะที่ยอดขายของบริษัท
ลดลงร้อยละ 0.6 โดยแบ่งเป็นรายภาค ไตรมาส 1 ปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาคครัวเรือน ยอดขายแอลพีจีตลาดรวม ขยายตัวร้อยละ 0.4 ส่วนของบริษัท ขยายตัวร้อยละ1.3 ภาคขนส่ง ติดลบร้อยละ 4 ส่วนของบริษัท ติดลบร้อยละ 2.5 ภาคอุตสาหกรรม ยอดขายแอลพีจี ตลาดรวม
ขยายตัวร้อยละ 2.7 ส่วนของบริษัท ขยายตัว ร้อยละ11.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโรงงานต่างๆเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากการใช้น้ำมันเตาเป็นก๊าซแอลพีจี-สำนักข่าวไทย