จันทบุรี 5 ก.ค. – มาตรฐาน ThaiGAP เป็นเครื่องมือให้เกษตรกรนำไปพัฒนาการเพาะปลูกให้เกิดมาตรฐาน ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพสูง โดยมีเป้าหมายรักษาคุณภาพของผลไม้ไทยให้สามารถส่งออกได้อย่างยั่งยืน
ทุเรียน ราชาผลไม้ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศอย่างจีน จนผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอ เกิดปัญหาทุเรียนอ่อนไม่ได้คุณภาพหลุดสู่ท้องตลาด
คุณสิทธิพงษ์ ญานโส เกษตรกรสวนทุเรียน อ.นายายอาม จ.จันทบุรี คิดปรับวิธีการเพาะปลูกทุเรียนให้มีคุณภาพ จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำมาตรฐาน ThaiGAP มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน
เริ่มตั้งแต่การจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม แบ่งเป็นสัดส่วน เช่น โรงเก็บอุปกรณ์ ขยะ แหล่งน้ำ จากนั้นต้องมีการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ กำหนดการปลูก ตลอดจนวันเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นการการันตีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะเป็นสินค้าคุณภาพสูง
เกษตรกรใช้เศษหญ้าหรือต้นกล้วย นำส่วนที่เหลือทิ้งกลบโคนต้น ต้นได้สารอาหารสมบูรณ์ ผลผลิตที่ออกในรุ่นถัดไปได้น้ำหนัก รสชาติเป็นที่ต้องการของตลาด แถมช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก
มาตรฐาน ThaiGAP ยังกำหนดปริมาณสารเคมีที่ใช้ต้องเหมาะสม ใช้อย่างถูกต้อง ไม่มีสารตกค้าง หรือเปลี่ยนมาใช้สมุนไพรธรรมชาติมากขึ้น เพื่อลดข้อกีดกันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมาตรฐานนี้เองทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังตรวจสอบย้อนกลับได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีเกษตรกร อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี สนใจเข้าร่วมมาตรฐาน ThaiGAP กว่า 20 ราย ซึ่งสินค้ามาตรฐาน ThaiGAP จะเป็นเครื่องมือสำคัญของผลไม้ไทย ให้รักษาคุณภาพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายฐานผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ นำมาสู่รายได้เกษตรกรไทยที่จะมีความมั่นคงยั่งยืนมากยิ่งขึ้น. – สำนักข่าวไทย