กรุงเทพฯ 23 มิ.ย. – สนข.ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟ ชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง พัฒนาแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเชื่อมการเดินทาง-ขนส่งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน สนับสนุนส่งเสริมด้านคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวของประเทศ ออกแบบและจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ การเงิน และรูปแบบการลงทุน และสร้างกระบวนการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟดังกล่าว ซึ่ง สนข.แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการฯ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 มีมติเห็นชอบรายงานเบื้องต้นของการศึกษา เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และขอบเขตการศึกษารายละเอียดต่อไป
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ เส้นทางรถไฟชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 10 เดือน (พ.ค.60 – ก.พ.61) ระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร รูปแบบการดำเนินโครงการฯ จะสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพัฒนาโครงข่ายและขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจังหวัดชุมพรไปยังจังหวัดระนอง รวมทั้งประชุมกลุ่มย่อยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 ครั้ง เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและเพียงพอ รวมทั้งรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อประกอบการวางแผนพัฒนาโครงข่ายการศึกษาความเหมาะสมของแนวสายทาง การออกแบบแนวสายทาง และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และปริมาณการขนส่งสินค้า รวมทั้งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และแผนพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ภาคใต้ ส่งเสริม การท่องเที่ยวสองฝั่งทะเล เพิ่มทางเลือกการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่และเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียต่อไป
โครงการพัฒนาและขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจังหวัดชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะสนับสนุนการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน และสนับสนุนศักยภาพกลุ่มจังหวัดภาคใต้จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย