รัฐสภา 23 มิ.ย.-รมช.คมนาคม ระบุ คมนาคมกำลังศึกษาผลดีผลเสียการให้บริการของ Uber คาดภายใน 4-5 เดือนได้ข้อสรุป เตรียมออกกฎกระทรวงปรับมาตรฐานแท็กซี่แล้ว คาดบังคับใช้ ต.ค.นี้
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่องปัญหาการให้บริการรถยนต์ป้ายดำผ่านแอปพลิเคชั่น Uber โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่า กระทรวงคมนาคมจะมีนโยบายการให้บริการ Uber ให้ถูกกฎหมายอย่างไร และมีมาตรการป้องกันการกระทบกระทั่ง หรือความขัดแย้งระหว่างผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะกับผู้ขับรถ Uber อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนร้องเรียนแท็กซี่สาธารณะปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาไม่สุภาพ ขับรถประมาท ไล่ผู้โดยสารลงก่อนถึงปลายทาง และขับรถอ้อมเส้นทาง ซึ่งเมื่อประชาชนร้องเรียนไปยังสายด่วน 1584 ก็ไม่สามารถจัดการเรื่องนี้
“เมื่อ Uber ให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 และได้รับความนิยม จากสถิติในปี 2558 พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 4,100 ครั้ง และปี 2559 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 4,500 ครั้ง เนื่องจากจุดเด่นของ Uber ที่ประชาชนพึงพอใจคือ บริการดี ตรวจสอบราคาได้ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และมีระบบตรวจสอบคนขับ แต่จุดอ่อน คือ ผิดกฎหมาย ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ คนขับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวการคัดค้านของแท็กซี่สาธารณะ จึงเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุประท้วงปิดถนนเหมือนในต่างประเทศ” นายวัลลภ กล่าว
จากนั้น นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมระหว่างผู้แทนของกระทรวง ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดูแลเรื่องจัดระเบียบรถสาธารณะและตัวแทนของ Uber เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ศึกษาผลดีผลเสียของการนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการสาธารณะ วิเคราะห์ผลกระทบของระบบแท็กซี่เดิม และเสนอแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมาย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะและประชาชน คาดว่า ภายใน 4-5 เดือนจะได้ข้อสรุป และจะเร่งทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้ถูกกฎหมายและเพื่อลดความขัดแย้ง รวมทั้งมีทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการด้วย ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
“ส่วนมาตรการป้องกันการกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้งระหว่างผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะกับผู้ขับรถ Uber กระทรวงคมนาคมร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 11(มทบ.11) ทำความเข้าใจกับผู้รับจ้างสาธารณะไม่ให้ต่อต้านที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบและปรับมาตรฐานการให้บริการของรถยนต์รับจ้างสาธารณะ รณรงค์ให้ประชาชนเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างสาธารณะถูกกฎหมายผ่านศูนย์แท็กซี่ OK Center เพิ่มทางเลือกให้บริการประชาชน โดยจัดทำโครงการรับยนต์รับจ้างสาธารณะวีไอพีให้มีมาตรฐานสูงขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการแท็กซี่ แก้ปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร หรือขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด รวมทั้งพนักงานขับรถต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ คาดว่า กฎกระทรวงน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว.-สำนักข่าวไทย