กรุงเทพฯ 23 มิ.ย.- ศาลยุติธรรมจัดเสวนา “พยานหลักฐานจากกล้อง ความจริงหรือภาพลวงตา” ถกขอบเขตอำนาจการรับฟังพยานหลักฐานภาพจากกล้อง
สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ จัดเสวนาเรื่อง “พยานหลักฐานจากกล้อง “ความจริงหรือภาพลวงตา” มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ นายธานี สิงหนาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา, นายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ., พ.ต.อ.วิวัฒน์ สิทธิสรเดช นักวิทยาศาสตร์ จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล
นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะประธานเปิดการเสวนา กล่าวว่า ปัจจุบันการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้สามารถพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำผิด ซึ่งมีการนำเอาเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยกล้องมาใช้ในการพิสูจน์หลักฐานในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงตระหนักถึงความสำคัญของหลักฐานภาพจากกล้อง โดยขั้นตอนการหาพยานหลักฐานในชั้นตำรวจและอัยการถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการมีคำพิพากษาของศาลอย่างมาก โดยเฉพาะกล้องวงจรปิด หรือภาพจากสื่อออนไลน์ต่างๆ เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการใช้เป็นพยานหลักฐานทางคดีในอนาคต
นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การใช้ภาพถ่ายจากกล้องในการสืบสวนในชั้นตำรวจหรือการพิจารณาในชั้นศาล ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น ความคมชัดและความต่อเนื่องของภาพ รวมทั้งภาพที่อาจมีการตัดต่อ โดยเป็นข้อพิจารณาว่าหลักฐานภาพเหล่านี้สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม แม้ภาพถ่ายจากกล้องเป็นหลักฐานที่เริ่มมีความสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา แต่พยานบุคคลและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ ก็ยังมีความสำคัญ ต้องนำมาใช้ประกอบกัน.-สำนักข่าวไทย