กรุงเทพฯ 20 มิ.ย.-สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ปรับแผนการรักษาความปลอดภัย หลังเกิดอุบัติเหตุหญิงสาวพลัดตกลงไปในราง โดยมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรงช่วงกลางขบวนรถ และจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนชานชาลาไม่ให้มากเกินไป ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพาไปดูบริเวณชานชาลา และภายในห้องคนขับบนขบวนรถไฟฟ้า ที่มีปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน
บรรยากาศที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ บ้านทับช้าง ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน มีผู้คนมารอใช้บริการหนาแน่น แต่มาตรการดูแลความปลอดภัยเข้มข้นขึ้น หลังเกิดเหตุหญิงสาวตั้งครรภ์พลัดตกลงไปในรางรถและเสียชีวิตเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ที่เคยยืนประจำชานชาลาฝั่งละ 2 คน ช่วงหัวและท้ายขบวนรถ วันนี้มีเพิ่มอีกฝั่งละ 1 คน ประจำจุดตรงกับช่วงกลางขบวนรถ และมีการสับเปลี่ยนทุกชั่วโมง
ผู้บริหารบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.บอกว่า นอกจากเพิ่มจำนวน รปภ. ยังมีการปรับแผน Crowd Control คือ การจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนชานชาลาไม่ให้แออัดจนเกินไป เพื่อให้ดูแลได้ทั่วถึง
บนชานชาลาแต่ละฝั่งจะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินฝั่งละ 5 จุด เจ้าหน้าที่ รปภ.จะยืนในจุดที่ใกล้ปุ่มกดฉุกเฉิน และยังมีปุ่มกดฉุกเฉินอยู่ในขบวนรถด้วย อย่างเหตุการณ์เมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ได้กดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินทั้งที่ชานชาลาและในขบวนรถแล้ว
มีการตั้งข้อสังเกตว่าพนักงานขับรถจะเห็นเหตุการณ์ข้างนอกได้ชัดเจนเพียงใด เมื่อทีมข่าวเข้าไปสำรวจภายในห้องคนขับบนขบวนรถ อุปกรณ์การทำงานควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่หากมีเหตุการณ์ไม่ปกติ พนักงานขับรถจะดำเนินการเอง
ทัศนวิสัยการมองเห็นของพนักงานขับรถ ขณะรถวิ่งระหว่างสถานี ความเร็วรถสูงสุดที่ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง เห็นได้ไกล 300-500 เมตร ส่วนขณะรถกำลังเข้าสถานี แสงสว่างลดลง ความเร็วขบวนรถเหลือ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะการมองเห็น 200 เมตร
จากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ พนักงานขับรถมองเห็นคนตกลงไปในรางรถไฟฟ้าที่ระยะห่างประมาณ 50 เมตร จึงกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าหากตกลงไปในรางระยะที่ไกลกว่านี้ ไม่กระชั้นชิดเช่นนี้ พนักงานขับรถจะมองเห็นชัดเจน และจะหยุดรถได้ทัน
ผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่ใช้บริการเป็นประจำบอกว่า อยากให้มีการจัดสร้างประตูกั้นชานชาลาโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัย บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.มีโครงการเตรียมทำประตูกั้นชานชาลา 8 สถานี ยกเว้นสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสถานีเดียวที่มีประตูกั้นแล้ว เตรียมเซ็นสัญญาสิงหาคมนี้ และจะเริ่มทำในสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารมากก่อน ดังนั้น สถานีบ้านทับช้าง อาจเป็นสถานีสุดท้ายที่จะมีการก่อสร้างประตูกั้นชานชาลา เพราะมีจำนวนผู้โดยสารน้อยที่สุด ล่าสุด ผู้บริหารเตรียมเจรจากับผู้ประมูลงานในเดือนหน้า ขอปรับแผนการก่อสร้างจาก 24 เดือน ให้เหลือ 18 เดือน เร็วขึ้นอีก 6 เดือน ความสูงจากรางรถไฟฟ้าถึงพื้นชานชาลาประมาณ 120 เซนติเมตร การยังไม่มีประตูกั้นจึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายกับผู้โดยสารได้อีก.-สำนักข่าวไทย