กระทรวงกลาโหม 19 มิ.ย.-กก.สร้างความปรองดองฯ เห็นชอบร่างสัญญาประชาคม พร้อมเสนอผ่านเวทีสาธารณะต้นเดือนก.ค. ก่อนส่งป.ย.ป. ส่วนการลงนามเป็นเรื่องอนาคต สำคัญที่เจตจำนงประชาชนเพื่อสันติสุขประเทศ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 4/2560 เพื่อพิจารณาร่างสัญญาประชาคม และแนวทางการจัดเวทีสาธารณะชี้แจงประชาชน หลังคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง รวบรวมข้อสรุปเสร็จสิ้น ว่า ขณะนี้ยังมีรายละเอียดเล็กน้อยที่ต้องปรับแก้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตการปรับปรุงรายละเอียด ซึ่งจะต้องมีความเห็นตรงกันคือการสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อนำไปสู่สันติสุข
“เมื่อปรับแก้เสร็จสิ้น สามารถตั้งเวทีชี้แจงสาธารณะใน 4 ภูมิภาคได้ ซึ่งการสร้างความปรองดองในทุกกลุ่มต้องร่วมกัน อะไรที่ขัดแย้งจะไม่เอาและไม่นำมาพิจารณา” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ขณะที่พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะ ประธานอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ชุดที่ 3) กล่าวว่า การปรับแก้ร่างสัญญาประชาคมฉบับนี้ มีเพียงเล็กน้อยในรายละเอียดเท่านั้น และเมื่อได้ร่างฉบับใหม่มา ไม่ต้องส่งมายังคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองแล้ว คาดว่าจะนำร่าง สัญญาประชาคมไปเปิดเวทีสาธารณะได้ในสัปดาห์หน้าไม่เกินวันที่ 7 กรกฎาคม 2560
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในหลักการร่างสัญญาประชาคมและร่างเอกสารความเห็นร่วม แต่ขอให้ปรับแก้เพียงเล็กน้อยในรายละเอียด จากนั้นจะเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะชน ผ่านการจัดเวทีสาธารณะภายในต้นเดือนกรกฎาคมหรือไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งร่างสัญญาประชาคมฉบับนี้มาจากประเด็นความเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้ขยายไปสู่ความขัดแย้ง และเอกสารร่วมทั้ง 5 กลุ่ม 10 ด้าน
“เอกสารทั้งหมดจะนำส่งให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานอีกครั้ง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการบริการราชการแผ่นดิน พร้อมส่งไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรุปประเทศ(สปท.) เพื่อพิจารณาประกอบในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป” พล.ต.คงชีพ กล่าว
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า เนื้อหาในเอกสารร่วมในเรื่องเร่งด่วนในกลุ่มที่ 4 ที่ต้องดำเนินการและป้องกันปัญหาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต เช่น ข้อกฎหมายที่มีความอ่อนไหว จะถูกนำไปเป็นร่างสัญญาประชาคม เพื่อสะท้อนให้เห็นความคิดเห็นของประชาชน ก่อนนำกลับไปเปิดเวทีสาธารณะต่อประชาชนอีกครั้งใน 4 ภูมิภาคต้นเดือนกรกฎาคมนี้
“ร่างสัญญาประชาคมจะลงนามร่วมกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับอนาคตและความพร้อม รวมถึงการยอมรับของทุกฝ่าย แม้เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตจำนงของประชาชนที่ต้องปฏิบัติและยึดถือ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มั่นใจว่าสัญญาประชาคมครั้งนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมากกว่าทุกครั้งเพราะรัฐบาลศึกษาปัญหาที่สะสมมาในอดีต ทั้งนี้ หากบ้านเมืองคลี่คลายก็พร้อมจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนแสดงความคิดเห็น” พล.ต.คงชีพ กล่าว.-สำนักข่าวไทย