กรุงเทพฯ 16 มิ.ย. – รองนายกรัฐมนตรีระบุ ม.44 รถไทย-จีน ทำให้เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราชรวดเร็วขึ้น ด้านคมนาคมมั่นใจลงนามความร่วมมือออกแบบเดือนกรกฎาคมนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อออกมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ทำให้ปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่คลี่คลาย จากเดิมมองว่าเป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่กลับติดขัดไม่ให้ทำการก่อสร้างเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อรัฐบาลทะลุทะลวงอุปสรรคดังกล่าวจะทำให้ปัญหาการก่อสร้างล่าช้ากลับมาเริ่มก่อสร้างได้และทำให้มีความคืบหน้าเร็วขึ้น ทำให้ไทยเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าร่วมนโยบาย One Belt One Road ของจีนชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านมีความพร้อมแล้ว ทั้ง สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เมื่อไทยเดินหน้าก่อสร้างได้แผนขนส่งสินค้าในภูมิภาคจะสะดวกขึ้น ส่วนปัญหาการเจรจาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากจำเป็นค่อยพึ่งพาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ เพราะสภาพคล่องในประเทศมีเพียงพอแล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าหลังใช้ ม.44 เชื่อว่าโครงการรถไฟไทย-จีนจะสามารถเดินหน้ารวดเร็วมากขึ้นถือว่าอยู่ในช่วงสุดท้าย เมื่อมี ม.44 ปลดล็อคแล้วจะทำให้การเดินหน้าความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือเรื่องแรกการออกแบบรายละเอียดจะสามารถลงนามได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนที่เหลือความร่วมมือจีนจะควบคุมการก่อสร้างและงานเกี่ยวข้องกับการลงทุนระบบรางและอาณัติสัญญาจะสามารถดำเนินการได้ เชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดจะเป็นไปตามนโยบายที่ คสช.วางไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระบุว่า จากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนสร้างรถไฟความเร็วสูงภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เพื่อเร่งรัดการดําเนินโครงการให้เสร็จโดยเร็ว จึงจําเป็นต้องกําหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ
จึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทําสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ตัวแทนของจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ทั้งงานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลาก ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหากต้องดําเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45,47,49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 และมาตรา 45,47,49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543
เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสมในการกําหนดมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดทําร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทําสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ รฟท.ใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการ รฟท. รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีนมาเป็นกรอบพิจารณา โดยจะต้องดําเนินการให้เสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
สำหรับวงเงินก่อสร้างตามที่ ครม.อนุมัติการสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ถือเป็นราคากลาง ตามกฎหมาย ปปท. และนายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควร หากนายกรัฐมนตรีไม่พิจารณาให้มีการขยายระยะเวลาออกไปได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดําเนินการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และนําหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ติดตามดูแล นอกจากนี้ ยังกำหนด รฟท. ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา
กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ , ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ,ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ,ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง เมื่อ รฟท. จัดทําร่างสัญญาจ้างเสร็จให้ส่งข้อตกลงการจ้างและร่างสัญญาจ้างให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เห็นชอบก่อนส่งให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาจ้างให้เสร็จภายใน 30 สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาจ้าง และเมื่อสํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาจ้างเสร็จแล้วให้กระทรวงเจ้าสังกัดนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
และหากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดําเนินงานตามคําสั่งนี้และ รฟท.ไม่สามารถหาข้อยุติได้ให้รายงานปัญหาหรืออุปสรรคดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ หากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ไม่อาจหาข้อยุติได้ให้ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อวินิจฉัยปัญหาหรือสั่งการตามสมควร.-สำนักข่าวไทย