กรุงเทพฯ 2 พ.ย. – กนอ. การันตี 3 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาปลอดภัยจากน้ำท่วมปีนี้ 100% เตรียมเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ สหรัตนนครให้สมบูรณ์ ยืนยันไม่เคยทอดทิ้งชุมชนรอบนิคมฯ ส่งมอบความช่วยเหลือแล้ว 3,000 ครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างใกล้ชิด ตลอดช่วงฤดูฝนปี 2559 พบว่า ขณะนี้สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนอยู่ในเกณฑ์น้อยลงแล้ว ทางกรมชลประทานจึงลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมหยุดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนพระรามหก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง จึงส่งผลให้ระดับน้ำที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงปริมาณน้ำที่ไหลไปสมทบและบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแนวโน้มลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ประกอบกับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่ก่อสร้างล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร มีความสูงของเขื่อนมากกว่าระดับน้ำปัจจุบัน ประมาณ 4-5 เมตร จึงสรุปได้ว่านิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 3 แห่ง มีความปลอดภัยไร้ความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยปีนี้อย่างแน่นอนแล้ว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เดิมทีมีแผนการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมลักษณะคันดินเสริมผนังคอนกรีต โดยมีระดับความสูงของเขื่อนอยู่ที่ +8.500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.) แต่เนื่องจากบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพื้นที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทำให้ต้องชะลอการสร้างเขื่อน จึงดำเนินการเสร็จเฉพาะในส่วนของคันดิน ซึ่งมีความสูงอยู่ที่ +7.500 เมตร รทก. นั้น จากนี้ กนอ.จะรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จต่อไป เพื่อเพิ่มความพร้อมในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยในอนาคต
“แม้ขณะนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง จะปลอดภัยไร้ความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยแล้ว แต่จากสถานการณ์ฝนตกหนัก ประกอบกับการระบายน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีประชาชนบางพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่ง กนอ.จึงเร่งดำเนินการสำรวจชุมชนรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค ประมาณ 3,000 ชุด ผ่านทางนายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ เพื่อนำไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยด่วน” นายวีรพงศ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย