กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – กยท.ระบุมีผู้ตั้งใจปล่อยข่าวหวังทุบราคายางพารา แนะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน พร้อมเดินหน้าโครงการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เสนอ ครม.พิจารณา 4 มาตรการพรุ่งนี้
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้พยายามสร้างกระแสข่าวเพื่อหวังให้ราคายางพาราตกต่ำและเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางพารา จึงขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการพิจารณาข้อมูลพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยยืนยันว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางพาราร่วง สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน การแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันลดลง และการคาดการณ์สตอกยางของประเทศจีนที่ยังไม่ชัดเจน
พร้อมชี้แจงเงื่อนไขการสนับสนุนเงินทุนให้กู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ นั้น กยท.จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (3) ประมาณ 2,500 ล้านบาท ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. คุณสมบัติการกู้ยืมเงินหากเป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยสามารถใช้บุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน หรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ และสำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และมีวินัยทางการเงิน ทั้งนี้ หากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางใดได้รับการผ่อนผัน ขยายเวลาชำระหนี้ ลดหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ และสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ถือว่ามีคุณสมบัติที่จะกู้ยืมได้ และสำหรับผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องไม่มีหนี้ผิดค้างชำระต่อสถาบันการเงินหรือ กยท.เช่นกัน
ขณะที่นโยบายการส่งเสริมให้โค่นยางพาราปีละ 400,000 ไร่ เป็นกระบวนการบริหารจัดการซัพพลาย เพื่อ สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้เกิดขึ้นกับตลาดโลก ซึ่งเกษตรกรที่ดำเนินการโค่นยางเก่า กยท. จะมีกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการนำไปปลูกแทนร้อยละ 40 ของเงินกองทุนพัฒนายางพาราเท่านั้น ปัจจุบัน กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน 200,457 ราย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1.98 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นปลูกยาง 1,439,903.20 ไร่ ไม้ยืนต้น 79,162ไร่ ปาล์มน้ำมัน 442,370.75 ไร่ และปลูกพืชแบบผสมผสาน 15,561.45 ไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่โค่นแล้วเลือกปลูกแทน จะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 16,000 บาท โดยหลักจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ได้รับการสนับสนุนเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีเกษตรกร จะเป็นประเภทค่าแรง อาทิ การเตรียมดิน การปลูก และการบำรุงรักษาสวนจนกว่าจะได้ผลผลิต เป็นต้น ประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ส่วนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์ยาง ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายของ กยท.โปร่งใส เป็นธรรม และติดตามทุกโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) เชื่อว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี สำหรับ 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี ถึง 31 มีนาคม 2561 มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ออกไปอีก 90 วัน รองรับเกษตรกรตกค้าง 11,460 ครัวเรือน มาตรการขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ออกไปถึงเดือนพฤษาคม 2563 และมาตรการขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2560- เมษายน 2562 โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย